(แฟ้มภาพซินหัว : ร้านอาหารตั้งป้ายเตือนลูกค้าไม่ให้กินอาหารเหลือทิ้ง ในเขตเฉียวซีของเมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ยทางเหนือของจีน วันที่ 17 ส.ค. 2020)

เซี่ยงไฮ้, 25 ส.ค. (ซินหัว) — หลังจากกินอาหารเย็นเสร็จ หลินซวี่เปิดมินิโปรแกรมวีแชทที่ชื่อว่า “เกลี้ยงจาน” ในโทรศัพท์และถ่ายรูปจานเปล่าที่กินเสร็จแล้ว ก่อนที่เขาจะได้รับคะแนนเครดิต 157 คะแนนหลังจากภาพถูกอัปโหลดและอ่านค่าด้วยระบบเอไอ

หลินซวี่เล่าว่า “ผู้ใช้โปรแกรมสามารถนำเครดิตไปแลกเปลี่ยนเป็นของขวัญต่างๆ เช่น หนังสือ โทรศัพท์มือถือ ไวน์แดง หรือจะบริจาคเป็นค่าอาหารให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ยากจนก็ได้”

หลินซวี่ผู้เป็นชาวเซี่ยงไฮ้ใช้โปรแกรมดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งเพื่อบันทึกว่าตัวเอง “กินเกลี้ยงจาน” เขายังเข้าร่วมกับกลุ่มคนที่เห็นพ้องต้องกันในกิจกรรมนี้เพื่อร่วมรณรงค์ลดการสร้างขยะอาหารตามนโยบายของประเทศ

แคมเปญ “กินเกลี้ยงจาน” กำลังได้รับความนิยมทางออนไลน์ทั่วประเทศจีน ทั้งสื่อมวลชน หน่วยงานรัฐบาล องค์กรทางสังคม และอินฟลูเอนเซอร์ในอินเตอร์เน็ตต่างร่วมกันส่งต่อข้อความรณรงค์ลดขยะอาหารทางออนไลน์

บริษัทรับจัดเลี้ยงและร้านอาหารยังให้ความร่วมมือในการหยุดสร้างขยะอาหารและส่งเสริมการกินอย่างรู้คุณค่า โดยมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่คอยย้ำเตือนให้ผู้บริโภคไม่กินทิ้งกินขว้าง พวกเขายังได้รับการสนับสนุนให้จัดปริมาณอาหารอย่างหลากหลายเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น

(แฟ้มภาพซินหัว : กล่องใส่อาหารกลับบ้านที่เตือนลูกค้าไม่ให้กินอาหารเหลือทิ้งที่ร้านอาหารในเขตเฉียวซีของเมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ยทางเหนือของจีน วันที่ 17 ส.ค. 2020)

มินิโปรแกรม “เกลี้ยงจาน” ได้รับความนิยมในหมู่หนุ่มสาวชาวจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้โปรแกรมเกือบ 1 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีแคมเปญที่คล้ายกันเช่น “จานเปล่าชาเลนจ์” ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของจีน

หลิ่วจี้เชิน ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่พัฒนาโปรแกรมดังกล่าวให้ความเห็นว่า “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นวิธีที่ดีในการลดขยะอาหาร”

ความคิดนี้ผุดขึ้นมาตอนที่หลิ่วไปกินอาหารเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในปี 2017 หลิ่วพบว่าร้านอาหารมอบบัตรสะสมแต้มให้กับลูกค้าที่กินอาหารหมดจาน และมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้ เมื่อสะสมแต้มครบจำนวนที่กำหนด

“ทุกคนที่เห็นคุณค่าของอาหารจะมีความสุขที่ได้รับประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเลย” หลิ่วกล่าวว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถเป็นจริงได้ทางอินเตอร์เน็ต และเขาก่อตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อทำโครงการนี้

ถึงกระนั้น ก็ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับระบบเอไอในการระบุว่าจานไม่มีอาหารเหลือแล้วจริงหรือไม่ผ่านทางรูปภาพที่อัปโหลด

เพื่อพัฒนาระบบเอไอให้ฉลาดขึ้น หลิ่วกับทีมงานใช้เวลาครึ่งปีในการรวบรวมตัวอย่างภาชนะกว่า 100,000 ตัวอย่างในโรงอาหารและร้านอาหารทั่วประเทศ พร้อมเก็บข้อมูลจากคนหลายพันคน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับโครงข่ายประสาทเทียม

องค์กร สถาบัน และร้านอาหารหลายสิบแห่งติดต่อกับบริษัทเพื่อร่วมโครงการ ผู้คนสามารถเห็นผลลัพธ์ที่ดีของการกินอาหารอย่างคุ้มค่าผ่านโปรแกรมดิจิทัลที่แสดงผลชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราหวังว่าความพยายามของเราจะช่วยสร้างค่านิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ส่งเสริมให้พวกเขารู้คุณค่าของอาหารและฝึกนิสัยไม่ฟุ่มเฟือย” หลิ่วกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.