(แฟ้มภาพซินหัว: พานเม่าหยวน ครูวัย 100 ปี แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน อ่านหนังสือที่บ้าน วันที่ 2 ก.ย. 2020)
(แฟ้มภาพซินหัว: นักศึกษาและนักวิชาการเข้าร่วม “ชุมนุมวิชาการสุดสัปดาห์” ที่บ้านของพานเม่าหยวน วันที่ 2 พ.ย. 2019)

เซี่ยเหมิน, 10 ก.ย. (ซินหัว) — หากปรายตามองเพียงผิวเผิน ชายชราผมสีดอกเลาอย่าง “พานเม่าหยวน” ดูเหมือนกับครูอาจารย์คนอื่นๆ ที่ทำงานสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แต่สิ่งหนึ่งที่พานไม่เหมือนใครคือวันวัยแห่งชีวิตที่ล่วงเลยถึง 100 ปีแล้ว

“หากชาติหน้ามีจริง ผมยังขอเป็นครูดังเดิม” พานกล่าวเนื่องในวันครูจีน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี (10 ก.ย.)

พานเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานการอุดมศึกษาของจีน ทำหน้าที่บ่มเพาะนักศึกษาปริญญาเอก 326 คน และนักศึกษาปริญญาโท 759 คน ตลอดระยะเวลามากกว่า 40 ปีที่ผ่านมา

“ความล้มเหลวคือต้นกำเนิดความสำเร็จ”

เมื่ออายุ 15 ปี พานเคยทำงานพิเศษเป็นครูที่โรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในเมืองเจียหยาง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน

“นักเรียนที่ผมสอนอายุตั้งแต่ 5-15 ปี พวกเขาดื้อมาก พอผมหันไปเขียนกระดานดำ พวกเขาจะปาชอล์กใส่กัน พอผมท่องตำราให้ฟัง พวกเขาก็ไม่ยอมสนใจและมัวแต่คุยกัน คอยสร้างความวุ่นวาย” พานนึกถึงความหลัง

ประสบการณ์การเป็นครูที่ไม่ค่อยดีนักไม่ได้ทำให้พานท้อใจ ทว่ากลับกันพานมุ่งมั่นจะก้าวข้ามความท้าทายและกลายเป็น “ครูที่แท้จริง” โดยพานบอกกับตัวเองว่า “ความล้มเหลวคือต้นกำเนิดความสำเร็จ”

หลังจากนั้นพานได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนครูระดับมัธยมและเรียนรู้ด้านการศึกษามากมายเพื่อให้ตนเองมีคุณสมบัติเพียงพอจะเป็นครู จนกระทั่งปี 1941 พานได้ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินและเลือกสาขาการศึกษาเป็นวิชาเอก

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย พานเดินตามความฝันของการเป็นครูอีกครั้งด้วยการทำงานพิเศษในโรงเรียนประถมท้องถิ่น พานชอบให้นักเรียนออกไปซึมซับธรรมชาตินอกห้องเรียน มากกว่าจะให้นักเรียนก้มหน้าก้มตาเขียนเรียงความอยู่ในห้อง นอกจากนี้พานยังหยิบยืมสิ่งของตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยมาให้นักเรียนในชั้นเรียนสัตววิทยาดูอีกด้วย

“นักเรียนมักสงสัยอยู่เสมอว่าผมจะเอาอะไรไปให้พวกเขาดู หลายปีต่อมา หนึ่งในลูกศิษย์ของผมกลายเป็นนักมีนวิทยาที่มีชื่อเสียง” พานกล่าว

ด้วยประสบการณ์การสอนอันกว้างขวาง พานกลายเป็นครูที่มีชื่อเสียงในนครเซี่ยเหมิน เมืองทางตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน อย่างไรก็ดี พานได้ลิ้มรสความล้มเหลวอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1950

พานได้รับเชิญไปแบ่งปันประสบการณ์การสอนกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง “ประสบการณ์การสอนของผมเกี่ยวกับนักเรียนเป็นหลัก แต่พวกอธิการบดีบอกผมว่าพวกเขาต้องรับมือกับนักศึกษา และสิ่งที่ผมพูดมันเป็นอะไรที่เอาไปใช้จริงไม่ได้” พานกล่าว

พานตัดสินใจเติมเต็มช่องว่างด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาบนจีนแผ่นดินใหญ่ และนับแต่นั้นเรื่อยมาถึง 50 ปี พานได้ก่อร่างสร้าง “สิ่งแรก” ขึ้นมามากมาย โดยพานช่วยก่อตั้งสถาบันวิจัยอุดมศึกษาแห่งแรก และเป็นผู้รวบรวมข้อมูลของหนังสือว่าด้วยการอุดมศึกษาที่ตีพิมพ์เป็นฉบับแรก

“ยิ่งให้ยิ่งได้”

ช่วงกลางทศวรรษ 1980 พานจัดงานชุมนุมวิชาการสุดสัปดาห์ทุกค่ำวันเสาร์ โดยพานจะเชิญชวนนักศึกษามาที่อะพาร์ตเมนต์ของเขาและถกเถียงหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่การศึกษาจนถึงชีวิต

“มหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ที่ที่คุณจะไปหาความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นที่ที่จะบ่มเพาะคุณด้วยบรรยากาศทางวิชาการ” พานกล่าว

สำหรับพาน ครูที่มีคุณภาพคือครูใส่ใจและรักลูกศิษย์ นักศึกษาของพานมักจะโทรศัพท์มาพูดคุยหรือมาเยี่ยมเขาเสมอ แม้จะสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็ตาม

พานเชื่อว่านักศึกษาทุกคนเท่าเทียมกัน “นักศึกษาอาจมีความสามารถแตกต่างกัน บางคนอาจถนัดด้านอาชีวศึกษา ขณะที่คนอื่นอาจเหมาะสมกับการทำวิจัยในมหาวิทยาลัย แต่ทุกคนล้วนมีความสำคัญจำเป็นกับสังคม” พานกล่าว

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พานได้จัดการบรรยายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีครูอาจารย์และนักศึกษาจากทั่วประเทศมากกว่า 30,000 คน เข้าฟังการบรรยาย 1 ชั่วโมงของพาน

“ผมไม่ค่อยชอบการสอนออนไลน์” พานกล่าว “นักศึกษาเห็นผม แต่ผมไม่เห็นพวกเขา การสบสายตาเป็นเรื่องสำคัญมากของการสื่อสารและการเรียนการสอน”

พานผู้เป็นครูที่มีอายุมากที่สุดที่ทำงานในมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน เพิ่งเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดปีที่ 100 กับเพื่อนร่วมงานและนักศึกษาเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

เรื่องที่ผมดีใจมากที่สุดในชีวิตคือการที่ผมได้เป็นครู” พานกล่าว ” ในฐานะครู ยิ่งคุณให้มากเท่าไรก็ได้รับกลับมามากเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.