หนานหนิง, 28 พ.ย. (ซินหัว) — สายของ สายนะสิน อธิบดีสำนักอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและการกีฬาลาว ซึ่งเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือด้านอุดมศึกษาจีน-อาเซียน (จีน-ลาว) ครั้งที่ 4 ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ กล่าวว่าลาวและจีนบรรลุความร่วมมือรอบด้าน โดยความร่วมมือทางการศึกษามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

การประชุมข้างต้นจัดขึ้นพร้อมกันที่นครหนานหนิงของจีนและนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว เมื่อวันศุกร์ (26 พ.ย.) ด้วยเป้าหมายส่งเสริมการหารือและการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศ รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือด้านการศึกษาของจีนและลาวในยุคใหม่

สายของกล่าวว่ามหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีของจีน ร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันขงจื๊อมานาน 10 ปีแล้ว โดยปีนี้สถาบันฯ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาการสอนภาษาจีน ซึ่งถือเป็นสถาบันฯ แห่งแรกในโลกที่เปิดหลักสูตรดังกล่าว

คำโฮง จันทะวง ผู้อำนวยการสถาบันขงจื๊อประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เผยว่านับตั้งแต่จัดตั้งสถาบันฯ มีการจัดโครงการฝึกอบรม 22 ครั้ง ให้นักศึกษาลาว 26,018 คน และจัดชั้นเรียนภาษาจีนให้นักเรียนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในโรงเรียนประถม 6 แห่ง

ทั้งนี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งมีนครหนานหนิงเป็นเมืองเอก ถือเป็นภูมิภาคระดับมณฑลแห่งเดียวของจีนที่มีพรมแดนติดต่อกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล และพื้นที่สำคัญของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนและอาเซียนตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ลาว ครบ 60 ปี ในปีนี้

อู่ชุนฮุย รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษากว่างซี กล่าวว่าแต่ละปีมีนักศึกษาลาวมาเรียนที่กว่างซีราว 1,500 คน และแม้ปีนี้จะเผชิญการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่จำนวนนักศึกษาลาวที่สมัครเข้าเรียนในกว่างซียังคงสูงเกิน 1,000 คน

“มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนักศึกษาจากลาวมากที่สุดในจีน โดยตั้งแต่ปี 2000 มหาวิทยาลัยฯ ได้รับนักศึกษาลาวเข้าเรียน 4,206 คนแล้ว รวมถึงมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งในลาว” เซี่ยซ่างกั่ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ กล่าว

หวังอี้ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอาชีวศึกษาจีน-อาเซียน ระบุว่าวิทยาลัยอาชีวศึกษาในกว่างซีเกือบ 20 แห่ง ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการจีนและวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอาเซียน เพื่อพัฒนาอาชีวศึกษา บ่มเพาะผู้มีความรู้ความสามารถ รวมถึงเดินหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น

ขณะเดียวกันมีการจัดตั้งศูนย์อบรมบุคลากรอาชีวศึกษาจีน-อาเซียนระดับชาติในกว่างซี จำนวน 9 แห่ง ซึ่งฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ เภสัชกรรม ศิลปะ และการบริหารจัดการให้กลุ่มประเทศอาเซียนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ยังมอบโอกาสให้ลาว ทำให้นักศึกษาลาวมีโอกาสไปเรียนที่จีน” หลี่เจี้ยนหมินกล่าว ด้านสถาบันขงจื๊อประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวจัดการเรียนการสอนแบบ “ภาษาจีน+วิชาชีพ” และชั้นเรียนภาษาจีนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินงานทางรถไฟจีน-ลาวด้วย

“สิ่งที่น่ายินดีเป็นพิเศษคือทางรถไฟจีน-ลาวก่อสร้างเสร็จสิ้นและจะเปิดบริการเดือนธันวาคมนี้แล้ว นี่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างจีนและลาวที่มีนัยสำคัญ สะท้อนมิตรภาพอันยาวนานระหว่างสองชาติ และเป็นการดำเนินแผนริเริ่มฯ อย่างเป็นรูปธรรม” กงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลลาวในหนานหนิงกล่าว

“จีนให้การสนับสนุนและความช่วยเหลืออันมีค่าแก่ลาว ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของลาว โดยเฉพาะการศึกษาระดับอุดมศึกษา นักศึกษาลาวได้เข้าเรียนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในจีนหลายพันคน และกลับจากจีนมามีส่วนส่งเสริมการพัฒนาประเทศ”

(แฟ้มภาพซินหัว : นักศึกษามหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซีทำการแสดงระหว่างงานฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ลาว ครบ 60 ปี และการประชุมความร่วมมือด้านอุดมศึกษาจีน-อาเซียน (จีน-ลาว) ครั้งที่ 4 ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 26 พ.ย. 2021)
(แฟ้มภาพซินหัว : บรรยากาศงานฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ลาว ครบ 60 ปี และการประชุมความร่วมมือด้านอุดมศึกษาจีน-อาเซียน (จีน-ลาว) ครั้งที่ 4 ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 26 พ.ย. 2021)
(แฟ้มภาพซินหัว : บรรยากาศงานฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ลาว ครบ 60 ปี และการประชุมความร่วมมือด้านอุดมศึกษาจีน-อาเซียน (จีน-ลาว) ครั้งที่ 4 ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 26 พ.ย. 2021)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.