(แฟ้มภาพซินหัว : จรวดขนส่งลองมาร์ช-4 บรรทุกดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01เอ ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 26 ม.ค. 2022)

จิ่วเฉวียน, 26 ม.ค. (ซินหัว) — วันพุธ (26 ม.ค.) จรวดขนส่งลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยขนส่งดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01เอ (L-SAR 01A) ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อ 19.13 น. ตามเวลาปักกิ่ง และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้สำเร็จแล้ว

ดาวเทียมดวงใหม่นี้ ซึ่งติดตั้งเรดาร์ชนิดช่องรับคลื่นสังเคราะห์ (SAR) จะปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยา ดินถล่ม และแผ่นดินไหว

องค์การอวกาศแห่งชาติจีน ระบุว่าดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01 ของจีน เป็นกลุ่มดาวเทียมที่ประกอบด้วยดาวเทียม 2 ดวง ได้แก่ แอล-เอสเออาร์ 01เอ (L-SAR 01A) และ แอล-เอสเออาร์ 01บี (L-SAR 01B) ซึ่งได้รับการออกแบบให้โคจรที่ระดับความสูง 600 กิโลเมตร

(แฟ้มภาพซินหัว : จรวดขนส่งลองมาร์ช-4 บรรทุกดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01เอ ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 26 ม.ค. 2022)

องค์การฯ ระบุว่าโครงการดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ มีความครอบคลุมพื้นที่กว้างและความละเอียดเชิงพื้นที่สูง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาข้อมูลต่างประเทศของจีนในด้านต่างๆ อาทิ ธรณีวิทยา การเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และการสนับสนุนฉุกเฉิน ส่วนดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01บี มีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

อนึ่ง การส่งดาวเทียมครั้งนี้นับเป็นภารกิจครั้งที่ 407 ของจรวดตระกูลลองมาร์ช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.