(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : ภาพเปรียบเทียบจู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีน ในวันที่ 19 พ.ค. 2021 (ซ้าย) และวันที่ 22 ม.ค. 2022 (ขวา))

ปักกิ่ง, 24 มี.ค. (ซินหัว) — ยานโคจรประจำภารกิจเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจดาวอังคารของจีน ได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวอังคารความละเอียดสูงหลายภาพ ซึ่งแสดงพายุฝุ่นบนพื้นผิวดาวอังคาร

วันพฤหัสบดี (24 มี.ค.) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้เผยแพร่ภาพถ่ายใหม่ที่ความละเอียด 0.5 เมตร ที่บันทึกโดยกล้องบนยานโคจรฯ ซึ่งปฏิบัติงานในวงโคจรที่ห่างจากโลก 277 ล้านกิโลเมตร มาเป็นเวลา 609 วันแล้ว

ภาพถ่ายเหล่านี้แสดงร่องรอยที่จู้หรง (Zhurong) ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีนทิ้งเอาไว้ โดยจู้หรงปฏิบัติงานบนพื้นผิวดาวอังคารนาน 306 วันดาวอังคาร และออกวิ่งสำรวจเป็นระยะทางรวม 1,784 เมตร

นอกจากนั้นจู้หรงยังถ่ายภาพเซลฟีตนเองจากดาวอังคารด้วย โดยเมื่อเปรียบเทียบภาพเซลฟีกับภาพถ่ายเมื่อไม่นานนี้หลังลงจอดบนดาวอังคาร พบว่ามีชั้นฝุ่นละอองสะสมอยู่บนพื้นผิวของจู้หรง

ฝุ่นละอองสามารถลดการจ่ายพลังงานของจู้หรงได้ โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จีนออกแบบปีกพลังงานแสงอาทิตย์ของจู้หรง เฉพาะสำหรับชดเชยประสิทธิภาพที่ลดลงอันเกิดจากการปกคลุมของฝุ่น

อย่างไรก็ดี องค์การฯ ระบุว่าปัจจุบันจู้หรงมีพลังงานเพียงพอที่จะเดินหน้าการสำรวจบนดาวอังคารต่อไป

ทั้งนี้ องค์การฯ ทิ้งท้ายว่ายานโคจรประจำภารกิจเทียนเวิ่น-1 ได้เฝ้าติดตามกิจกรรมของฝุ่นละอองในซีกเหนือของดาวอังคารตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และส่งภาพพายุฝุ่นในภูมิภาคนี้กลับสู่โลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยไม่พบสภาพอากาศที่มีฝุ่นมากอย่างชัดเจนในพื้นที่ตรวจสอบของจู้หรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.