(แฟ้มภาพซินหัว : ทุเรียนที่ร้านค้าของซีพี กรุ๊ป ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

หนานหนิง, 19 ก.ย. (ซินหัว) — “ทุเรียน” ซึ่งถูกขนานนามเป็น “ราชาแห่งผลไม้” จากจังหวัดจันทบุรีของไทยและมาเลเซีย กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหวานหลากหลายชนิด ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับคุณค่าและรสชาติแปลกใหม่ของผลไม้ชนิดนี้

แม้ฤดูกาลทุเรียนจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทุเรียนแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน รวมถึงผลิตภัณฑ์ทุเรียนแปรรูปอื่นๆ เช่น ขนมอบกรอบรสทุเรียนและลูกอมทุเรียน ยังคงดึงดูดลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อหากันอย่างไม่ขาดสาย

“ทุเรียนหมอนทองจากไทยเป็น ‘สินค้าขายดี’ มาโดยตลอด ช่วงเวลานี้มีผลไม้สดไม่มากนัก แต่ทุเรียนแช่แข็งสามารถเก็บรักษาได้ตลอดทั้งปี” จางลี่ชุน ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าของบริษัทเทคโนโลยีอุตสาหกรรมผลไม้ เจียว่อ (ชิงเต่า) สาขานครหนานหนิง กล่าว

จางมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อก่อนบริษัทฯ นำเข้าทุเรียนผ่านการขนส่งทางอากาศเป็นหลัก แต่เนื่องด้วยการพัฒนาของระบบขนส่งสินค้าแบบห่วงโซ่ความเย็นและความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลไม้นำเข้าจึงมีทางเลือกในการขนส่งมากขึ้น ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยยอดจำหน่ายทุเรียนในซูเปอร์มาร์เก็ตช่วงฤดูกาลทุเรียนนั้นสูงแตะ 100,000 หยวน (ราว 526,000 บาท) ต่อวัน

ด้านหวงลู่เหยียน เจ้าของร้านขนมทุเรียนมูซานคิงมาเลเซียในหนานหนิง เผยว่าทางร้านสามารถจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์สอดไส้ทุเรียนมูซานคิงทางออนไลน์สูงถึง 30,000 กล่องในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ปีนี้ ทั้งยังมีกาแฟทุเรียนและลอดช่องทุเรียน ซึ่งล้วนแปรรูปจากทุเรียนมูซานคิงที่นำเข้าจากรัฐปะหังของมาเลเซีย เพื่อให้มีรสชาติถูกปากคนท้องถิ่น

ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุในหนานหนิงช่วงนี้ ชานมทุเรียน น้ำแข็งไสมะม่วงทุเรียน ลาเต้ทุเรียน และเครื่องดื่มเย็นอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของทุเรียน ต่างขึ้นแท่นเป็น “เมนูโปรด” ที่ช่วยคลายร้อนและดับกระหายให้กับผู้บริโภค

จริยา อุ่นทอง เจ้าของร้านชานมชาวไทยที่อาศัยในหนานหนิงมานาน 15 ปี กล่าวว่าทางร้านได้เปิดตัวเครื่องดื่มเมนูใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นชานมทุเรียนและน้ำแข็งไสทุเรียน ตั้งแต่ช่วงวันหยุดฤดูร้อนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุเรียนหมอนทองสดใหม่จำนวนมากถูกนำเข้ามาวางจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากบรรดาลูกค้า

จริยาชี้ว่าไทยส่งออกทุเรียนจำนวนมากมายังจีนทุกปี เนื่องจากจีนมีตลาดขนาดใหญ่และผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง นอกจากทุเรียนสดแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนยังนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากทุเรียน เช่น เครปเค้กทุเรียนและพิซซ่าทุเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวจีนนั้น “คลั่งไคล้” ทุเรียนกันมาก

ความนิยมของการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทุเรียน ยังทำให้ผู้ประกอบการด้านอาหารท้องถิ่นบางรายมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เช่นเดียวกับ “เซวียนมา” ธุรกิจเบเกอรี่ชื่อดัง ที่เริ่มต้นผลิตเค้กทุเรียนจากเนื้อทุเรียนนำเข้าจากประเทศอาเซียนตั้งแต่ปี 2019 จนมียอดจำหน่ายรายปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแตะที่มากกว่า 10 ล้านชิ้นในปี 2021 พร้อมวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อื่นๆ ที่ใช้ผลไม้อาเซียนเป็นวัตถุดิบหลัก

วรรณลดา รัตนพานิช กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานกงสุลใหญ่ของไทย ณ นครหนานหนิง กล่าวว่าทุเรียนไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนมาโดยตลอด และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนและการค้าระดับภูมิภาค ผลักดันให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทย รวมถึงจีนและกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ เปิดกว้างยิ่งขึ้น

 

(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : ขนมหวานหลากหลายชนิดที่ทำจากทุเรียนมูซานคิงของมาเลเซีย)
(แฟ้มภาพซินหัว : ขนมเปี๊ยะสอดไส้ทุเรียน)
(แฟ้มภาพซินหัว : ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนวางจำหน่ายในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 19)
(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานในโรงงานตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ขนมเปี๊ยะสอดไส้ทุเรียน)
(แฟ้มภาพซินหัว : ไอศกรีมรสชาติทุเรียน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.