(ภาพจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลหูหนาน : สถานที่ขุดค้นหลุมศพโบราณยุคจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐ บริเวณหมู่หลุมศพโบราณอู่หลี่ผิง มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน)

ฉางซา, 27 พ.ย. (ซินหัว) — คณะนักโบราณคดีได้ขุดค้นหลุมศพโบราณ 43 หลุม ซึ่งแบ่งเป็นหลุมก่ออิฐ 13 หลุม และหลุมดิน 30 หลุม บริเวณหมู่หลุมศพโบราณอู่หลี่ผิง มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม นำสู่การค้นพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องสัมฤทธิ์ เหล็ก และเครื่องเงินกว่า 270 รายการ

เฉินปิน หัวหน้าโครงการอู่หลี่ผิงจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลหูหนาน เผยว่าหมู่หลุมศพโบราณอู่หลี่ผิงเป็นกลุ่มหลุมศพขนาดใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นหลุมศพจากยุคราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 220) และราชวงศ์จิ้น (ปี 265-420)

คณะนักโบราณคดีได้ขุดค้นหลุมศพโบราณ 527 หลุม ระหว่างปี 2012-2021 ซึ่งเป็นหลุมศพจากยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกตอนต้น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 25) จนถึงราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279)

ส่วนหลุมศพที่ขุดค้นใหม่ 43 หลุม มีหกหลุมมาจากยุคจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐ (475-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ค้นพบหลุมศพของแคว้นฉู่จากยุคดังกล่าวในอำเภอหลานซานของหูหนาน

หลุมศพทั้งหกจากยุคจ้านกั๋วอยู่บนยอดเนินเขาเตี้ยของหมู่บ้านอู่หลี่ผิง มีลักษณะเป็นหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง โดยมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องสัมฤทธิ์ เหล็ก แป้ง และไม้เคลือบเงาด้วย

เฉินระบุว่าหลุมศพทั้งหกมีขนาดเล็ก วัตถุที่ฝังพร้อมศพมีคุณภาพต่ำ จึงเชื่อว่าเป็นหลุมศพของสามัญชน ทว่ามอบข้อมูลสำคัญต่อการศึกษาการเคลื่อนย้ายลงใต้ของชาวแคว้นฉู่ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างแคว้นฉู่และแคว้นเย่ว์ในยุคจ้านกั๋ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.