(ภาพจากไอเอเอฟซี : เจน แฮเลวี (Jane Halevy) ผู้ก่อตั้งแนวร่วมต่อต้านการค้าขนสัตว์นานาชาติ (IAFC) เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้มีการห้ามค้าขนสัตว์ในเมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2014)

เยรูซาเล็ม, 8 ต.ค. (ซินหัว) — ในที่สุด อิสราเอลก็กำลังเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการห้ามค้าขนสัตว์ภายในประเทศ แม้กฎหมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ จะถูกขัดขวางจากอุตสาหกรรมขนสัตว์ทั่วโลกมายาวนานกว่าทศวรรษ

บทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายนี้คือจะถูกปรับเป็นเงินสูงสุดถึง 75,000 นิวเชเกลอิสราเอล (ราว 690,000 บาท) หรือถูกจำคุก 1 ปี

เมื่อวันอาทิตย์ (4 ต.ค.) จีลา จัมเลียล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (MoEP) ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศสนับสนุนอิสราเอล “ในการแสดงความเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งมวล”

“อุตสาหกรรมขนสัตว์ก่อให้เกิดการฆาตกรรมสัตว์หลายร้อยล้านตัวทั่วโลก ถือเป็นความโหดร้ายและความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจพรรณนาได้ การใช้ผิวหนังและขนของสัตว์ป่าในอุตสาหกรรมแฟชั่นถือเป็นเรื่องผิดศีลธรรม” เธอกล่าว

กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของอิสราเอล (MoEP) ระบุว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนต่อการเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ของรัฐบาลจนถึงวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งจะได้รับการทบทวนก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามค้าขนสัตว์

“ปัจจุบัน มีหนทางมากมายที่ไม่สร้างอันตรายต่อสัตว์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าทุกคนควรเลือกหนทางเหล่านั้น” แกลี เดวิดซอน ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์ของกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกล่าว

เดวิดสันกล่าวว่าหลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลโดนกดดันอย่างหนักหน่วงจากนานาชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้อิสราเอลผ่านร่างกฎหมายนี้

เจน แฮเลวีผู้ก่อตั้งแนวร่วมต่อต้านการค้าขนสัตว์นานาชาติ (IAFC) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ไอเอเอฟซีเริ่มก่อตั้งในปี 2009 ภายใต้การร่วมมือกับสมาชิกรัฐสภาอิสราเอล (Knesset) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแนวคิดการออกกฎหมายห้ามค้าขนสัตว์

โรนิต ทิโรช (Ronit Tirosh) อดีตสมาชิกรัฐสภาอิสราเอล สนับสนุนความคิดของแฮเลวี และได้พยายามผ่านกฎหมายต่อต้านการค้าขนสัตว์เป็นครั้งแรก แต่ความพยายามทั้งหมดตลอดปี 2009-2012 กลับล้มเหลว แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศก็ตาม

“เมื่อเราเสนอร่างกฎหมายห้ามค้าขนสัตว์ในอิสราเอลเป็นครั้งแรก เหล่าผู้ล่าในอุตสาหกรรมขนสัตว์จากประเทศต่างๆ เช่นสหรัฐฯ ก็ส่งคำขู่มาที่ฉัน ว่าถ้าไอเอเอฟซีไม่หยุดผลักดันกฎหมายนี้ พวกเขาจะถลกหนังฉันทั้งเป็นเหมือนที่ทำกับพวกสัตว์” แฮเลวีกล่าว

หลังจากพรรคของทิโรชพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปในปี 2013 แฮเลวียังคงส่งเสริมแนวคิดของเธอในการออกร่างกฎหมายต่อต้านการค้าขนสัตว์ร่วมกับนักการเมืองคนอื่นๆ ทว่าไม่มีผู้ใดประสบความสำเร็จจนกระทั่งจัมเลียลและกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประกาศเรื่องนี้อย่างกะทันหันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เป็นที่น่าสังเกตว่าเมืองหลักหลายแห่งในไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิลสามารถผ่านกฎหมายที่คล้ายคลึงกันในการห้ามค้าขายขนสัตว์ด้วยความช่วยเหลือของแนวร่วมไอเอเอฟซี

“ตอนนี้เป้าหมายของเราคือการส่งต่อแรงกระเพื่อมระดับโลกในการยุติแฟชั่นนองเลือดจากเมืองสู่เมือง จากประเทศสู่ประเทศ จากฟาร์มขนสัตว์ที่น่าสยดสยองไปจนถึงร้านค้าหรูหราและทุกพื้นที่บนเส้นทางนี้ ที่ทำให้อุตสาหกรรมขนสัตว์กลายเป็นเรื่องราวที่น่าอับอายในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” มิทซี โอเชียน ผู้ประสานงานระดับโลกของไอเอเอฟซีกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.