เยรูซาเล็ม, 29 พ.ค. (ซินหัว) — กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลเปิดเผยความสำเร็จในการใช้น้ำเลือดหรือพลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง หลังผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 10 ใน 11 ราย มีอาการที่ดีขึ้นหลังรับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว

“การรักษาด้วยพลาสมาควรนำไปใช้กับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และผู้ป่วยที่อาการมีแนวโน้มเข้าขั้นรุนแรง” ไอลัต ชีนาร์ (Eilat Shinar) ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเมเกน เดวิด อาดอม (MDA) ในอิสราเอลกล่าว

ชีนาร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันพฤหัสบดี (28 พ.ค.) ว่าผู้ป่วยอาการรุนแรงและไม่รุนแรงที่ได้รับการรักษาด้วยน้ำเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน มีอาการดีขึ้นราวร้อยละ 50 ซึ่งวิธีการรักษาดังกล่าวควรถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยในช่วงที่ผู้ป่วยเริ่มใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจไปแล้วไม่เกิน 2 วัน

ชีนาร์เสริมว่าวิธีรักษาลักษณะนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าผู้ป่วยที่หายจากโรค จะมีการพัฒนาแอนติบอดีหรือโปรตีนภูมิคุ้มกันเฉพาะขึ้นในน้ำเลือด ซึ่งสามารถช่วยผู้ป่วยรายอื่นต่อสู้กับไวรัสได้ โดยผลลัพธ์ที่น่าพอใจของแอนติบอดีในการจัดการกับไวรัสในกระแสเลือด จะเกิดขึ้นต่อเมื่อยังไม่เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้

ผู้ป่วยหายดีแต่ละรายสามารถบริจาคพลาสมาที่มีแอนติบอดีแก่ผู้ป่วยที่มีหมู่เลือดเดียวกัน 3 ราย ได้ทุก 2 สัปดาห์ ส่วนแอนติบอดีจะคงอยู่ในร่างกายผู้ป่วยโดยมีอายุ 6 สัปดาห์

สถาบันฯ เผยว่าแม้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอิสราเอลระลอกนี้ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว แต่อิสราเอลยังคงต้องการน้ำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันมากกว่านี้เพื่อเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาดอีกระลอกที่อาจเกิดขึ้นในฤดูหนาว

(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสวมชุดป้องกันทำงานบนเครื่องบินที่กำลังเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียน ใกล้กับเมืองเทลอาวีฟทางตอนกลางของอิสราเอล เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2020)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.