กรุงเทพฯ, 25 ก.ย. (ซินหัว) — ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา หากพูดถึงประเทศจีนแล้ว คำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทยพี่น้องกัน” ยังคงได้รับเสียงขานรับจากคนไทยจำนวนมาก

ประชาชนทั้งสองประเทศสืบสานความเป็นพี่น้องด้วยการแลกเปลี่ยนฉันมิตรนานนับพันปี ผ่านการอพยพและการหล่อหลอมรวมเข้ากับคนไทยของชาวจีน ในแผ่นดินไทยมานานหลายร้อยปี รวมถึงความพยายามในปัจจุบันในการร่วมสรรสร้างเส้นทางสายไหมในยุคสมัยใหม่

มิตรภาพอันทรงคุณค่านี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหนึ่งในผู้อุปถัมภ์มิตรภาพดังกล่าว และทรงได้รับการยกย่องในฐานะต้นแบบสำคัญที่สุดในการสืบสานมิตรไมตรีระหว่างสองประเทศ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพบกับหวังอี้ มุขมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ กรุงปักกิ่ง (บันทึกภาพวันที่ 4 เม.ย. 2019)

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นหนึ่งในชาวต่างชาติ 6 คน ที่ได้รับการประกาศเกียรติยศ ด้วยรางวัลเหรียญมิตรภาพ ซึ่งเป็นรางวัลกิตติมศักดิ์ที่อนุมัติโดยคำสั่งประธานาธิบดี ในวาระครบรอบ 70 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรางวัลเกียรติยศนี้จะมอบให้แก่ชาวต่างชาติที่มีคุณูปการในการส่งเสริมความเป็นสมัยใหม่แก่สังคมนิยมจีน การสนับสนุน แลกเปลี่ยน และร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศ รวมถึงการพิทักษ์ไว้ซึ่งสันติภาพของโลก

ในวโรกาสนี้ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานสัมภาษณ์แก่สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าพระองค์ทรงปิติยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเหรียญรางวัลดังกล่าว และทรงซาบซึ้งที่ทางการจีนทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลอันทรงเกียรตินี้

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพบกับเติ้งเสี่ยงผิง ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (บันทึกภาพวันที่ 14 พ.ค. 1981)

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 1955 ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา เป็นช่วงที่ไทยและจีนเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต หลังจากนั้น 5 ปี พระองค์จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาจีนกลางโดยได้รับพระราชานุเคราะห์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“โตขึ้นก็รู้จักแล้ว สมัยนั้นสาธารณรัฐประชาชนจีนกับไทยยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน แต่ก็มีการติดต่อกันคือมีสถานีวิทยุปักกิ่งส่งกระจายเสียง” กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานสัมภาษณ์แก่สำนักข่าวซินหัว

พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยมีพระราชดำรัสว่า “ชาวจีนเป็นผู้ที่ชอบหนังสือ ชอบวิชาการ ฉะนั้นการรู้ภาษาจีนทำให้มีโอกาสมีความรู้ใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ”

ในพระราชนิพนธ์ “หยกใสร่ายคำ” (Verses of Clear Jade) ฉบับแปลไทย ที่ทรงแปลจากกวีนิพนธ์จีนโบราณ พระองค์ทรงแปลบทประพันธ์บทหนึ่งไว้ว่า “จะเป็นจีนเป็นไทยใช่ใครอื่น จงชมชื่นผูกจิตสนิทมั่น เด็ดผกาแทนใจผูกพัน แบ่งปันประดับเรือนเตือนตาเอย”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเขียนข้อความ ณ หมู่บ้านโอลิมปิก กรุงปักกิ่ง โดยมีคณะบุคคลเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างอบอุ่น (บันทึกภาพวันที่ 7 ส.ค. 2008)

ระยะเวลา 38 ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงเปลี่ยนพระราชดำรัสของพระองค์ให้เป็นความจริงได้ ด้วยการอุปถัมภ์ความร่วมมือไทย-จีน ทั้งในด้านวัฒนธรรม การศึกษา และด้านอื่นๆ พระองค์เสด็จฯ ยังหลายมณฑล เขตปกครองตนเอง และบรรดาเมืองใหญ่ เกือบทุกแห่งทั่วประเทศจีน พระราชนิพนธ์ต่างๆ ของพระองค์จึงเป็นแหล่งความรู้ในการศึกษาประเทศจีนอันกว้างใหญ่แห่งนี้ให้กับชาวไทย

ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนครั้งแรกเมื่อปี 1981 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เยือนนครปักกิ่ง ซีอาน เฉิงตู และคุนหมิง หลังจากนั้น พระองค์ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ลงในพระราชนิพนธ์ท่องเที่ยว “ย่ำแดนมังกร” โดยทรงบรรยายสิ่งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรให้พสกนิกรชาวไทยได้อ่าน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปยังงานเปิดตัวพระราชนิพนธ์แปล “นารีนครา” (บันทึกภาพวันที่ 28 มี.ค. 2013)

หลังจากนั้น 9 ปี พระองค์เสด็จฯ เยือนจีนเป็นครั้งที่สอง โดยเสด็จฯ เยือนแถบตะวันตกของประเทศตามแนวเส้นทางสายไหมโบราณ ตั้งแต่นครซีอาน เรื่อยไปจนถึงเมืองคัชการ์ เขตปกครองตนเองซินเจียง แล้วจึงทรงถ่ายทอดประสบการณ์ลงใน “มุ่งไกลในรอยทราย” พระราชนิพนธ์ท่องเที่ยวเล่มที่สอง

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีน-ไทย เมื่อปี 2000 กระทรวงศึกษาธิการของจีนจึงทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีนแด่กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

หลายปีที่ผ่านมา ความสนพระทัยประเทศจีนของพระองค์ยังขยายไปสู่ด้านเทคโนโลยีและการศึกษา พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งสถาบันขงจื่อขึ้นเมื่อปี 2006 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานศึกษาที่พระองค์ทรงจบการศึกษา โดยการก่อตั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (บันทึกภาพวันที่ 1 ธ.ค. 2014)

เมื่อเดือนเมษายน 2013 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ เยือนนครเทียนจิน ทางตอนเหนือของจีน เพื่อส่งเสริมความพยายามทวิภาคีในด้านอาชีวศึกษา และช่วยให้นักเรียนไทยได้รับทุนจากทางการนครเทียนจินสำหรับการฝึกอบรมระยะสั้นหรือศึกษาต่อในนครเทียนจิน นอกจากนี้ยังมีโครงการการศึกษาตามแนวทางจีนในวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2016

พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ว่า “ที่สำคัญคือมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับโครงการวิจัยของจีน ที่ลำพังประเทศไทยจะไม่มีโอกาสเช่นนี้”

“คนจีนขยันขันแข็ง มีวัฒนธรรมที่ดีเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว น่าจะก้าวหน้ามาก น่าจะมีการค้นคว้าทางเทคโนโลยีเพิ่มยิ่งๆ ขึ้น เพื่อให้เจริญยั่งยืนและมั่นคง” พระองค์ทรงมีพระราชดำรัส

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาลตรุษจีน 2019 ณ กรุงเทพฯ (บันทึกภาพวันที่ 5 ก.พ. 2019)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตร ตูเจียงเยี่ยน ระบบชลประทานโบราณของจีน ณ อำเภอก้วน มณฑลเสฉวน ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศจีน (บันทึกภาพวันที่ 17 พ.ค. 1981)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงจับมือเด็กชาวจีน ขณะเสด็จฯ ทอดพระเนตรป่าหินยูนนาน ณ มณฑลยูนนาน ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศจีน (บันทึกภาพวันที่ 18 พ.ค. 1981)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรกำแพงเมืองจีน ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศจีน (บันทึกภาพวันที่ 13 พ.ค. 1981)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรเนินทรายครวญ ณ นครตุนหวง มณฑลกานซู่ (บันทึกภาพวันที่ 16 เม.ย. 1990)
ต้วนเหวินเจี๋ย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยตุนหวง ทูลเกล้าฯ ถวายอัลบัมภาพแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในระหว่างที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศจีน (บันทึกภาพวันที่ 16 เม.ย. 1990)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพบกับ เติ้งอิ่งเชา รองประธานคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (บันทึกภาพวันที่ 12 พ.ค. 1981)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) (บันทึกภาพวันที่ 24 ต.ค. 2002)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.