กรุงเทพฯ, 5 พ.ย. (ซินหัว) — พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนไทย ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสำนักข่าวซินหัวของจีนและกรมประชาสัมพันธ์ของไทย ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคาร (5 พ.ย.)

บันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวระบุว่าสำนักข่าวซินหัวประจำกรุงเทพฯ และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) จะดำเนินการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่เสริมสร้างสายสัมพันธ์ทวิภาคีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเพิ่มพูนความเข้าใจระหว่างกันของสื่อมวลชนและสาธารณชนสองประเทศ

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ทางการไทยและจีนยังร่วมลงนามเอกสารความร่วมมืออีก 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การศึกษา และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้วย

อนึ่ง สืบเนื่องจากปี 2019 เป็น “ปีแห่งการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน-จีน” (ASEAN-China Year of Media Exchanges) จีนและอาเซียนจึงผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านนโยบาย การผลิตและการแลกเปลี่ยนรายการ ความร่วมมือทางเทคนิคและอุตสาหกรรม

ตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมคือเว็บไซต์บริการข่าวภาษาไทยของสำนักข่าวซินหัว (www.xinhuathai.com) ซึ่งเริ่มทดลองให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้นำเสนอข่าวสาร รูปภาพ และคลิปวิดีโอ ที่แปลและเรียบเรียงจากภาษาจีนและภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดยทีมสื่อมวลชนท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ

หลังจากทดลองให้บริการเป็นเวลากว่า 4 เดือน เว็บไซต์ซินหัวไทยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากบรรดาสื่อมวลชนในไทย ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์แห่งความร่วมมืออันงดงาม และกลายเป็นแหล่งข่าวจีนที่มีความสำคัญต่อสื่อมวลชนไทยจำนวนมาก

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของอสมท (MCOT) ซึ่งถือเป็นองค์กรสื่อมวลชนขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐบาล กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าไทย-จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนม พัฒนาการและสารพัดสิ่งที่จีนสร้างสรรค์ล้วนดึงดูดความสนใจจากสาธารณชน แต่ที่ผ่านมาสื่อไทยพึ่งพาสื่อตะวันตกเป็นหลักในการรายงานข่าวจีน

การเปิดเว็บไซต์ (ซินหัวไทย) ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อสื่อมวลชนและคนไทย ที่จะได้ฟังคนจีนเล่าเรื่องจีนบ้าง ไม่ใช่ฟังแต่ชาวตะวันตก” เขมทัตต์กล่าว

ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาของหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ กล่าวว่าเนื่องจากการทำความเข้าใจข่าวจีนของสื่อมวลชนไทยล้วนผ่านข้อมูลทุติยภูมิจากสื่อตะวันตก จึงมิอาจหลีกเลี่ยงอคติและไม่ได้รายงานข่าวที่เป็นมุมมองแบบภววิสัยตามความเป็นจริง สิ่งนี้ก่อเกิดอุปสรรคสำคัญของการแลกเปลี่ยนจีน-ไทย

ภูวนารถ ณ สงขลา บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ กล่าวว่าสื่อมวลชนไทยคาดหวังจะเข้าใจจีน แต่การค้นหารูปภาพเกี่ยวกับจีน ผู้นำจีน และเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านเว็บไซต์กูเกิล มักได้รูปที่ไม่ชัดเจนและแฝงนัยยะทางการเมือง ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจไม่ถูกต้องชัดเจน เว็บไซต์ซินหัวไทยจึงเป็นช่องทางเข้าถึงรูปภาพเกี่ยวกับจีนที่น่าสนใจยิ่งขึ้น

กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นประเด็นความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐฯ หรือปัญหาในฮ่องกงล้วนเป็นที่สนใจทั่วโลก นี่จึงเป็นโอกาสของความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนระหว่างจีน-ไทย

กอบกิจกล่าวเว็บไซต์ซินหัวไทยน่าจะเป็นอีกทางเลือกให้สื่อมวลชนไทยเลือกใช้ข่าวได้สะดวกขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นรายงานข่าวจากมุมมองของจีนแล้ว ยังช่วยคัดกรองข่าวที่ผู้อ่านชาวไทยสนใจในเบื้องต้น สะดวกกว่าการค้นหาในเว็บไซต์หรือคลังข่าวขนาดใหญ่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.