ก่อนหน้านี้เราได้ยินการคืบคลานของปรากฏการณ์ดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption) ที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา แต่ใครจะคิดว่า “โรคระบาด” จะเป็นเชื้อเพลิงเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ดิสรัปชันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูจะรวดเร็วกว่าการถูกดิสรัปชันด้วยดิจิทัลอีก

เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยน ธุรกิจที่ทำหน้าที่ตอบสนองพฤติกรรมก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ก็กลับเป็นธุรกิจที่ทำให้สถานการณ์ครั้งนี้ดีขึ้นเช่นกัน นั่นคือ โรงพยาบาล วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “นฤมล น้อยอ่ำ” รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS แห่งประเทศไทย เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันที่โควิดเข้ามา “นวัตกรรมและคุณภาพต้องไปด้วยกัน” 

กรุงเทพฯ ถูกล็อกดาวน์นานกว่า 2 เดือน เมืองที่เคยคึกคักตลอด 24 ชม. กลับเงียบเหงาหลังเวลาเคอฟิว นานๆ จะได้ยินเสียงรถวิ่งผ่านมาสักคัน ซึ่งคงไม่ต่างกับอีกหลายเมืองทั่วโลก รัฐบาลประกาศให้หลายสถานเป็นพื้นที่เสี่ยง และควรหลีกเลี่ยง

“เราได้รับผลกระทบพอควรทีเดียว เมื่อรัฐฯ ประกาศว่าโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าโรงพยาบาลไหน ต้องรับผู้ป่วยโควิดที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเป็นกฎที่ปฏิเสธไม่ได้ เราแยกตึกผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบหายใจ ซึ่งเขาอาจจะมีเชื้อหรือไม่มีก็ได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยปกติ ตอนนั้นหน้ากากอนามัย เสื้อ PPE ก็ขาดตลาด เราตั้งทีมโควิดใช้วิธีบริหารสต๊อกของจากส่วนกลางแล้วกระจายไปแต่ละสาขา  ปกติเราจะให้ทุกโรงพยาบาลบริหารเอง แต่ถ้าใช้วิธีนั้นของอาจจะขาดสต๊อก ผู้ที่กระทบมากที่สุดคือแพทย์พยาบาล ข่าวบุคลากรในโรงพยาบาลติดเชื้อ เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น”

เมื่อรัฐประกาศออกมาว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยง ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเดินทางไม่มาโรงพยาบาล โรคภัยไข้เจ็บปล่อยไว้ 2-3 เดือน อาจจะเป็นผลเสีย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลนำเทคโนโลยี Telemedicine และนวัตกรรมทางการแพทย์เข้ามาใช้ อาทิ แอพพลิเคชันให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ Samitivej Virtual Hospital แพทย์สามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้จากที่บ้าน, บริการ Bangkok Hospital Delivery Services การให้บริการเจาะเลือด ฉีดวัคซีน และจัดส่งยาถึงบ้าน, นวัตกรรมตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น Tytocare ชุดอุปกรณ์ตรวจวัดสุขภาพ ในรูปแบบที่พกพาง่าย และออกแบบให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้เอง เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ปอดและหัวใจด้วยระบบการฟังเสียงรวมไปถึงหู ช่องคอและผิวหนัง ด้วยระบบรูปภาพและวิดีโอเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยผ่านระบบออนไลน์

ขณะที่ในโรงพยาบาลเองมีการใช้  Healthy Bot หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยแทนบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการสื่อสารทางจอมอนิเตอร์ และช่วยในการส่งยา เวชภัณฑ์ อาหาร รวมถึงสิ่งของอื่นๆ ในพื้นที่คัดแยก ซึ่งผู้บริหารมองว่านวัตกรรมและคุณภาพต้องไปด้วยกัน 

เครือข่ายโรงพยาบาลที่มีมากกว่า 49 แห่ง มีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 6,000 เตียงต่อวัน ทำให้ BDMS สามารถบริหารเครือข่ายแบ่งพื้นที่เข้าร่วมโครงการพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐทางเลือก 14 วัน (Alternative State Quarantine) สนับสนุนนโยบายกักตัวสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง โดยเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ต (Movenpick BDMS Wellness Resort) สามารถให้บริการกว่า 150 ห้อง และกำลังจะขยายเป็น 200 ห้องเพื่อรองรับการเปิดประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจหาเชื้อโควิดที่สามารถตรวจหาเชื้อได้วันละ 700 คน และรู้ผลได้รวดเร็วในราคาที่ไม่สูง

“เป็นหน้าที่ที่เราจะช่วยภาครัฐ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้เปิดเผยออกไป แต่เราก็จะส่งตัวเลขไปรวมที่ส่วนกลางกับหน่วยงานรัฐแทน ซึ่งมีจำนวนมากที่รักษาหายในโรงพยาบาลเรา และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้”

โควิดทำให้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 

ภาพผู้คนวิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะ สวนลุมเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่วิ่งในยามเย็น งานวิ่งกำลังเป็นกระแสและถูกจัดแทบทุกวันหยุด แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ถูกระงับอย่างกะทันหันเพราะโควิด 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้คนทั่วโลกตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลป้องกันสุขภาพ (Preventive Care) มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย รับประทานอาหารเสริม และวิตามิน หรือแม้แต่ประกันสุขภาพ ยอดการซื้อประกันโควิดในราคา 400 บาท มียอดซื้อถึง 8 ล้านคน ซึ่งก่อนหน้านี้ มีคนไทยเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ทำประกันสุขภาพ

ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้คนหันมาซื้อประกันมากขึ้น นั่นคือ ทำให้ราคาถูก และจูงใจด้วยการนำไปลดหย่อนภาษี แต่เดิมคนไม่เห็นความสำคัญ เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่โควิดทำให้เห็นความไม่แน่นอนของเชื้อโรคที่พัฒนาตัวเองขึ้นทุกวัน สิ่งที่มาควบคู่กับประกันสุขภาพ คือ การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน คือการตรวจสุขภาพและการดูแลรักษาก่อนการเจ็บป่วยมากขึ้น อาทิ โปรแกรมการตรวจร่างกายพื้นฐาน โปรแกรมการตรวจและรักษาโรคเฉพาะทางทั้งระดับทั่วไปและที่มีความซับซ้อน

“โรงพยาบาลเองไม่อยากให้ใครป่วย อยากดูแลคนให้มีสุขภาพดี เทรนด์การดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุน้อย ไม่ต้องรออายุมากแล้วมาค่อยดูแล ในอนาคตโรคจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนก็สนใจการตรวจสุขภาพแบบลึกขึ้น”

ภาพลักษณ์ใหม่ของไทย สู่จุดหมายปลายทางประเทศแห่งบริการสุขภาพ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยมีนโยบายการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติของอาเซียน (Thailand, the World Class Medical Hub of Asia) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านสุขภาพของประเทศจีน ที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวจีน 100 ล้านคนมีสุขภาพที่ดี ภายในปี ค.ศ. 2030  

“เมืองไทยเป็น 1 ใน 3 ของเป้าหมายการท่องเที่ยวของชาวจีน แต่เรื่องการให้บริการสุขภาพ อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับ 10 ที่ชาวจีนจะนึกถึง วันนี้เป้าหมายของ BDMS คือ ทำอย่างไรให้คนมองเห็นว่า ประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศที่จะเดินทางมารักษาพยาบาล หรือท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) ติด 1 ใน 3 เหมือนกัน”

เมื่อประเทศไทยถูกจัดคะแนนดัชนีให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย จากองค์กร Global COVID-19 หรือ (GCI) ก็ยิ่งสร้างภาพลักษณ์แก่บริการด้านการแพทย์ของไทยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีกก้าว 

“สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติในสถานการณ์ปกติจะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ค่ารักษาพยาบาล โดยในสัดส่วนนี้ ชาวจีนอยู่ในอันดับที่ประมาณ 5-7 ของผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุ หรือมาใช้ประกันสุขภาพที่ซื้อคู่กับการท่องเที่ยว ทำให้เขาได้สัมผัสการใช้บริการสุขภาพกับโรงพยาบาลในประเทศไทย และเกิดการพูดถึงต่อที่ประเทศจีน

ทีมการตลาดของเราทำการตลาดในประเทศจีนนานกว่า 5 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจีนเป็นประเทศที่มีประชากรเยอะ และอาณาเขตใหญ่มาก ล่าสุดเราร่วมมือกับ บริษัทผิงอัน เฮลธ์ (PING AN HEALTH) บริษัทในเครือผิงอัน เฮลธ์ บริษัทประกันรายใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดของจีน ได้รับการจัดอันดับโดยจากนิตยสารฟอร์จูนให้เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังมี Ping An Good Doctor ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันด้านสุขภาพที่คนจีนใช้งานมากที่สุด บางกรมธรรม์ของผิงอันครอบคลุมไปถึงการรักษาในต่างประเทศ ทั้งอเมริกา หรือยุโรป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก หากเทียบกับประเทศไทยซึ่งถูกว่า ร้อยละ 25-30 

ใกล้ๆ แค่เมืองไทย คุณภาพของการรักษาพยาบาลก็ดีมากเทียบเท่ายุโรป เรามีแพทย์มากกว่า 12,000 คน พยาบาล 9,000 คน มีการให้บริการรองรับชาวต่างชาติทุกประเทศ พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา รวมถึงภาษาจีน การอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้กับลูกค้าและนักท่องเที่ยวชาวจีน ตั้งแต่กระบวนการส่งตัว หรือเอกสารที่ต้องใช้เดินทาง”

ในอนาคตบริการสุขภาพจะสร้างรายได้ที่เข้าประเทศที่ดีไม่แพ้การท่องเที่ยว การเดินทางเข้ามาใช้บริการแบบการท่องเที่ยวสุขภาพต้องใช้เงินมากกว่าการท่องเที่ยวหลายเท่า ซึ่งไม่เพียงใช้ไปกับการท่องเที่ยวแบบเดิมเท่านั้น แต่จะมีเรื่องการใช้บริการอื่นๆ จากผู้ติดตามผู้ป่วยซึ่งสร้างรายได้ให้ธุรกิจอื่นๆ ด้วย

ในฐานะผู้บริหาร คิดว่าอะไรจะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ 

เมื่อโรคระบาดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ หลายธุรกิจจึงประกาศยกเลิกกิจการ อะไรคือสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารใช้ในการแก้วิกฤติครั้งนี้

“โรคระบาดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ต้องบอกว่าเรารับมือกับโควิดได้ดีมาก มันทำให้เราแข็งแรงขึ้น ในฐานะที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราก็รับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ลดค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสม  ซึ่งก็ดีใจว่าใน 49 โรงพยาบาล ให้ความช่วยเหลือกัน และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  บริหารจัดการได้ดีแล้วดูแลพนักงาน  สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ  เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยความเข้าใจและเห็นใจกัน และคิดว่าวันนี้ไม่น่าจะมีอะไรที่รุนแรงมากกว่านี้ ในการเติบโตครั้งต่อๆ ไป  เราจะผ่านพ้นไปได้ไม่ยาก มันทำให้เราแข็งแรงขึ้น ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องเรื้อรังที่แก้ไม่จบ แน่นอนบางธุรกิจไม่สามารถจะอยู่ได้ ซึ่งจะผ่านได้ก็ต้องมี สติ และความพร้อม”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.