(ภาพจากสำนักข่าวเวียดนาม : พิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม วันที่ 15 พ.ย. 2020)

ฮานอย, 16 พ.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันอาทิตย์ (15 พ.ย.) คณะผู้นำจาก 15 ประเทศ ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นกลุ่มความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

บทความนี้จะบอกเล่าข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” คืออะไร มีความ “ใหญ่” ขนาดไหน และใช้เวลานานกี่ปีในการลงนามสัญญา

RCEP คืออะไร

RCEP หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นสนธิสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่อาเซียนเสนอเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและการค้ากับพันธมิตรในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พร้อมด้วยคู่ค้าอาเซียนอีก 5 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้

จุดมุ่งหมายของความตกลงดังกล่าว คือสลายอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลกได้

RCEP มีขนาดใหญ่แค่ไหน

ประมาณร้อยละ 30 ของโลก! 15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ครองสัดส่วนราวร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และร้อยละ 28 ของการค้าทั่วโลก

RCEP ใช้เวลานานกี่ปี

2012: ความตกลง RCEP ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชิงลึกระหว่าง 16 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิก

2015: เดิมมีแผนบรรลุความตกลง แต่เลยกำหนดเวลาหลายครั้ง

2016: จัดการประชุมหารือรวม 6 รอบ

2017: การประชุมสุดยอด RCEP ครั้งแรก จัดขึ้นที่กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์

2018: การประชุมสุดยอด RCEP ครั้งที่สอง จัดขึ้นที่สิงคโปร์

2019: ขับเคลื่อนการเจรจาเพื่อเร่งหาข้อสรุปที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย โดย 15 ประเทศที่เข้าร่วม RCEP สรุปข้อตกลงทั้ง 20 ข้อบท และประเด็นการเข้าถึงตลาดทั้งหมด มีเป้าหมายที่จะลงนามสนธิสัญญาการค้าเสรีขนาดใหญ่ในปีถัดไป

2020: ลงนามสัญญา!

RCEP สำคัญอย่างไร

หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่าการลงนามข้อตกลงดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะของความร่วมมือพหุภาคีและการค้าเสรีด้วย

ข้อสรุปของการเจรจาความตกลง RCEP จะ “ส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งที่สะท้อนความเป็นผู้นำของอาเซียนในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี ช่วยก่อร่างโครงสร้างการค้าใหม่ในภูมิภาค เอื้อประโยชน์ทางการค้าอย่างยั่งยืน พัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก และสนับสนุนการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาด” เหงียนซวนฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าว

โมฮาเหม็ด อัซมิน อาลี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่าการลงนามข้อตกลง RCEP จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้โลกเห็นถึงความพยายามในการเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี และยึดมั่นในวาระการพัฒนาขององค์การการค้าโลก (WTO)

ไซมอน เบอร์มิงแฮม รัฐมนตรีกระทรวงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า RCEP เป็น “ข้อตกลงที่มีนัยสำคัญยิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการค้าทั่วโลก”

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ป้ายการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ศูนย์การประชุมนานาชาติในกรุงฮานอยของเวียดนาม วันที่ 12 พ.ย. 2020)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พิธีเปิดงานเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา วันที่ 20 พ.ย. 2012)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ท่าเรือฉินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน วันที่ 23 พ.ย. 2019)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.