(แฟ้มภาพซินหัว : นกกระจอกสองตัวเกาะอยู่บนดอกบัวที่สวนสาธารณะจื่อจู๋ย่วน ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 26 มิ.ย. 2019)

ซิดนีย์, 8 ธ.ค. (ซินหัว) — งานวิจัยระหว่างประเทศฉบับใหม่พบว่านกกระจอกป่าท้องเหลือง (russet sparrow) ที่อาศัยอยู่ในจีน รู้จักใช้ใบไม้ของต้นหนานไอ้เฮา (Artemisia verlotiorum) มาปกป้องลูกของมันจากการติดเชื้อปรสิต ซึ่งคล้ายกับวิธีใช้สมุนไพรชนิดนี้ของมนุษย์

งานวิจัยซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (8 ธ.ค.) จัดทำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธของออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยครูไห่หนานของจีน และมหาวิทยาลัยปารีส-ซาเคลย์ของฝรั่งเศส พบว่านกใช้สรรพคุณทางยาของต้นหนานไอ้เฮาในทางเวชศาสตร์ป้องกัน เพื่อลดจำนวนพยาธิในรังของพวกมัน

“ส่วนประกอบของสารพฤกษเคมีในใบของพืชชนิดนี้ลดจำนวนพยาธิในรังนก ทำให้ลูกนกมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น” วิลเลียม ฟีนีย์ จากสถาบันการวิจัยอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธกล่าว

จีนใช้ประโยชน์จากต้นหนานไอ้เฮา ซึ่งมีสารประกอบต่อต้านพยาธิ ในฐานะพืชสมุนไพรมาตั้งแต่ยุคโบราณ และยังใช้อยู่ในช่วงเทศกาลแข่งเรือมังกร “ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งชาติที่มีการเฉลิมฉลองใหญ่โตที่สุดงานหนึ่งของจีน ชาวจีนมักแขวนพืชชนิดนี้ไว้หน้าประตู และนำไปใส่ในน้ำให้เด็กๆ อาบ ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยปกป้องพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ”

คณะนักวิจัยพบว่านกเริ่มใช้สมุนไพรชนิดนี้ปกป้องรังของพวกมันในช่วงเดียวกับที่จีนจัดเทศกาลแข่งเรือมังกร ซึ่งบ่งชี้ว่านกและมนุษย์อาจมีวิธีใช้งานพืชชนิดนี้ที่คล้ายคลึงกัน

“หลังจากการทดลองเชิงพฤติกรรมหลายครั้ง เราพบว่านกมักพยายามสร้างรังใกล้ต้นหนานไอ้เฮาที่สุด พวกมันคอยนำใบใหม่ๆ มาเติมในรังเสมอ โดยอาศัยการตามกลิ่นเพียงอย่างเดียว” ฟีนีย์กล่าว “รังนกที่มีใบหนานไอ้เฮาจะมีจำนวนพยาธิ เช่น ตัวไร น้อยกว่ารังอื่นๆ ทำให้มีลูกนกที่อ้วนท้วนสมบูรณ์”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.