มะนิลา, 25 ส.ค. (ซินหัว) — กลุ่มผู้เห็นอกเห็นใจหญิงฟิลิปปินส์ที่ถูกทหารญี่ปุ่นบีบบังคับให้ตกเป็นทาสทางเพศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ร่วมกันเปิดตัวอนุสรณ์อันเป็นเครื่องเตือนใจถึงการกระทำที่โหดร้ายทารุณของญี่ปุ่นแห่งใหม่ ณ สุสานแห่งหนึ่งในเมืองปารันญาเค (Paranaque) มหานครมะนิลา

อนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวที่มีชื่อว่า “ในความทรงจำของเหยื่อความเป็นทาสและความรุนแรงทางเพศจากทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง” (In Memory of the Victims of Military Sexual Slavery and Violence During the Second World War) ถูกตั้งขึ้นแทนที่รูปปั้นหญิงสาว “โลลา” (Lola) ซึ่งได้รับแจ้งว่า “หายไป” หลังจากถูกย้ายออกจากเมืองมะนิลาเมื่อเดือนเมษายน 2018 ทั้งนี้ คำว่า “โลลา” เป็นคำภาษาฟิลิปปินส์ซึ่งมีความหมายว่า “คุณยาย”

“อนุสรณ์นี้จะเป็นเครื่องเตือนใจว่าสงครามความรุนแรงจะต้องถูกต่อต้าน และการตกเป็นทาสและความรุนแรงทางเพศจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับผู้หญิงคนไหน ที่ไหน หรือเมื่อไรก็ตาม … และจะเป็นตัวแทนของการแสดงออกร่วมกันของพวกเรา เพื่อจดจำ เรียนรู้ เคารพ และให้เกียรติแก่สิ่งที่ไม่ควรจะถูกลืม” ข้อความบนแผ่นหินแกรนิตระบุ

เอสเตอลิตา ดี (Estelita Dy) วัย 90 ปี และนาร์ซิซา กลาแวร์เรีย (Narcisa Claveria) วัย 91 ปี เดินทางมาเข้าร่วมในพิธีนี้ด้วย ทั้งคู่เป็นหนึ่งในหญิงบำเรอกลุ่มแรกที่ตัดสินใจเปิดเผยตัวต่อสาธารณะเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เพื่อบอกเล่าประสบการณ์อันขมขื่นจากทหารญี่ปุ่นในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองฟิลิปปินส์

แผ่นหินรำลึกนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งสงครามลำดับที่ 3 ของประเทศ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่หญิงบำเรอชาวฟิลิปปินส์ โดยลำดับแรกคือรูปปั้น “หญิงบำเรอ” ความสูง 7 ฟุต ที่หล่อจากสัมฤทธิ์ เป็นหญิงสาวผู้ตกอยู่ในความทุกข์ระทมที่ถูกคาดตาด้วยผ้าในชุดสตรีแบบดั้งเดิมของหญิงฟิลิปปินส์ และถูกนำมาตั้งเป็นอนุสรณ์เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2017 ริมถนนโรฮัส (Roxas Boulevard) ในเมืองมะนิลา ส่วนลำดับที่ 2 เป็นรูปปั้นเด็กผู้หญิงความสูง 1 เมตร ซึ่งหล่อจากสัมฤทธิ์ พร้อมเก้าอี้ที่ว่างเปล่าด้านขวาของเธอ รูปปั้นนี้ถูกนำมาตั้งเป็นอนุสรณ์เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2018 ในเมืองซาน เปโดร (San Pedro) นอกเขตเมืองมะนิลา

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยคัดค้านการตั้งรูปปั้นทั้งสองตัว โดยพยายามบีบบังคับรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้นำรูปปั้นลง

“เราต่อต้านทุกๆ ความพยายามของญี่ปุ่นในการทำลายอนุสรณ์ที่บันทึกความโหดร้ายทารุณในสงครามของญี่ปุ่น และเราพร้อมสนับสนุนความพยายามก่อตั้งอนุสรณ์เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แก่เยาวชน” ชารอน ซิลวา โฆษกองค์กรลิลา พิลิปินา (Lila Pilipina) ระบุในถ้อยแถลง

ลิลา พิลิปินา เป็นองค์กรเพื่อหญิงบำเรอชาวฟิลิปปินส์และผู้ที่ต้องการแสดงการรำลึกต่อพวกเขาในฟิลิปปินส์ โดยต่อสู้เพื่อต้องการการยอมรับ การขอโทษ และการเยียวยาจากรัฐบาลญี่ปุ่น กรณีก่ออาชญากรรมทาสทางเพศต่อหญิงเอเชียซึ่งเป็นอาชญากรรมที่มิอาจยอมรับได้

อนึ่ง มีการประมาณว่าหญิงวัยรุ่นถูกลักพาตัวถึง 200,000 คนจากทั่วเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ และบางส่วนจากจีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อไปใช้แรงงานในสถานบริการทางเพศของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ในทศวรรษ 1990 มีผู้หญิงฟิลิปปินส์มากกว่า 200 คน ออกมาเปิดเผยเรื่องราวอันน่าเศร้าของตนเอง แต่ขณะนี้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เหลืออยู่ไม่มากแล้ว หลายคนมีอายุอยู่ในช่วง 80 ปี หรือ 90 ปี และบางส่วนยังเจ็บป่วยอีกด้วย

เช่นเดียวกับ “หญิงบำเรอ” ในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย หญิงบำเรอชาวฟิลิปปินส์ต้องการคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย พวกเธอต้องการเพียงการเยียวยาและให้มีการบันทึกเหตุการณ์หญิงบำเรอลงในบันทึกประวัติศาสตร์และหนังสือเรียนของญี่ปุ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.