(ภาพจากองค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชา : คนงานทำความสะอาดรูปแกะสลักหัวพญานาคในจังหวัดเสียมราฐของกัมพูชา)

พนมเปญ, 6 ต.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (5 ต.ค.) องค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชา (ANA) เผยการค้นพบหัวพญานาคทำจากหินทรายอายุหลายร้อยปี บริเวณใกล้กับปราสาทเทพพระนาม (Tep Pranam) ภายในเมืองโบราณนครธม (Angkor Thom) อุทยานโบราณคดีอังกอร์หรือหมู่ปราสาทนครวัดอันโด่งดังของกัมพูชา

รูปแกะสลักดังกล่าวถูกพบเมื่อต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งล้มลง ทำให้สิ่งของที่ฝังอยู่ในดินเป็นเวลานานหลายปีปรากฏขึ้นจากรากของต้นไม้

โชค โสมาลา หัวหน้าทีมจดทะเบียนงานศิลปะจากสำนักอนุรักษ์อนุสรณ์สถานและโบราณคดีเชิงป้องกันขององค์การฯ กล่าวว่ารูปแกะสลักหัวพญานาคถูกฝังใต้ดินลึกครึ่งเมตร เมื่อต้นไม้ล้มลงจึงพบรูปแกะสลักที่รากของต้นไม้ ซึ่งเป็นหัวส่วนบนขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.2 เมตร และหนา 0.3 เมตร

โสมาลาเสริมว่ารูปแกะสลักหัวพญานาคแบบบายนนี้อาจสร้างขึ้นพร้อมกับปราสาทบายนในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13 ระหว่างยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ด้านองค์การฯ ระบุว่าขณะนี้รูปแกะสลักหัวพญานาคที่ค้นพบข้างต้นถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระนโรดมสีหนุ-อังกอร์แล้ว

อุทยานฯ ขนาด 401 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 1992 และเป็นจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดของกัมพูชา

อนึ่ง อังกอร์ เอนเทอร์ไพรซ์ (Angkor Enterprise) กล่าวว่าอุทยานฯ รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 2.2 ล้านคน ในปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ และทำรายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม 99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.68 พันล้านบาท)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.