(แฟ้มภาพซินหัว : การประชุมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16 ในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

หนานหนิง, 24 ก.ค. (ซินหัว) — “ความร่วมมือในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ และโฆษณา เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างสะพานมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างไทยและจีน” อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของไทย กล่าวระหว่างการประชุมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16

การประชุมข้างต้นจัดขึ้นในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันศุกร์ (23 ก.ค.) ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนและรัฐบาลประชาชนกว่างซี โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของจีนและอาเซียนเข้าร่วมประชุมออนไลน์และออฟไลน์ราว 300 คน

อิทธิพลอ้างถึงภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่เข้าฉายในจีนเมื่อปี 2017 และทำรายได้บนบ็อกซ์ออฟฟิศมากกว่า 1.347 พันล้านบาท พร้อมชี้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อกระทรวงวัฒนธรรมของไทย

“ภาพยนตร์ไทยตรงตามรสนิยมความชอบของผู้ชมชาวจีน” วังไห่หลิน รองประธานสมาคมภาพยนตร์และวรรณคดีจีนกล่าว พร้อมเสริมภาพยนต์จีนหลายเรื่องเคยเชื้อเชิญผู้กำกับ นักแสดง และผู้ผลิตจากไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มาร่วมสร้างภาพยนตร์จีน ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างจีนและอาเซียนในอนาคต

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพยนตร์ไทยบนแอปพลิเคชันเทนเซนต์)

ฉีซู่อวี้ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการจัดการการปกครองของจีน (Chinese Academy of Governance) เผยว่าซีรีส์จีนเรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ที่เคยเป็นประเด็นร้อนแรงในไทย ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ นวนิยาย เสื้อผ้า ของที่ระลึก และอื่นๆ ได้รับความนิยมขึ้นมาทันตา โดยซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการส่งออกวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของจีนไปยังไทยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กว่างซีมีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นด่านหน้าของความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน โดยกว่างซีได้ก่อตั้งสถานีสื่อสารระหว่างประเทศ สถานีแปล และสถานีประสานงาน ทั้งในไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อฉายละครโทรทัศน์ การ์ตูนแอนิเมชัน และสารคดีของจีน

“จีนยังคงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอาเซียนในหลากหลายด้านอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปี ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่แข็งแกร่งของมิตรภาพอันยาวนาน” อิทธิพลกล่าว แม้การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และวัฒนธรรมทั่วโลก แต่ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของไทย-จีนยังคงแข็งแกร่ง

ด้านหลิวชุน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทไชน่า ฟิล์ม โค-โปรดักชัน คอร์ปอเรชัน (CFCC) กล่าวว่าจีนผลิตภาพยนตร์ร่วมกับหกประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว 20 เรื่อง เมื่อนับถึงเดือนมิถุนายน 2021 โดยหนึ่งในนี้คือภาพยนตร์ร่วมผลิตจีน-ไทยเรื่อง “โขงยักษ์” ที่กำลังอยู่ระหว่างถ่ายทำ

อิทธิพลปิดท้ายว่าไทยจะพยายามก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ในอาเซียน และเป็นฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่สำคัญระดับโลกในอนาคต โดยในเดือนกันยายนนี้ กระทรวงฯ จะจัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนกรุงเทพฯ 2021” ซึ่งนอกจากจะฉายภาพยนตร์จากประเทศอาเซียนแล้ว ยังวางแผนฉายภาพยนตร์จีนเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์โทรทัศน์ระหว่างอาเซียนและจีนด้วย

(แฟ้มภาพซินหัว : การประชุมวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 16 ในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.