เซี่ยงไฮ้, 10 เม.ย. (ซินหัว) — งานวิจัยฉบับใหม่ซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) ทางออนไลน์ เมื่อวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) ระบุว่าคณะนักวิจัยจีนได้ศึกษาและระบุโครงสร้างผลึกความละเอียดสูงของเอนไซม์ชนิดโปรตีเอส (Main Protease-Mpro) จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซึ่งก่อโรคโควิด-19 และได้ระบุตัวยาที่อาจจะต้านโรคนี้ได้

เหราจื่อเหอและหยางไห่เทา จากสถาบันเซี่ยงไฮ้เพื่อการศึกษาอิมมูโนเคมีวิทยาขั้นสูง (SIAIS) สังกัดมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) และผู้ร่วมงาน ได้ร่วมกันค้นหาตัวยาที่จะใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 90,000 ราย และส่งผลให้มีผู้ป่วยกว่า 1.5 ล้านคนทั่วโลก จนถึงวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 เม.ย.)

ทั้งนี้ เอนไซม์ชนิดโปรตีเอส (Main Protease) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางที่เอื้อให้ไวรัสเพิ่มจํานวนและแบ่งตัว ด้วยเหตุนี้เอนไซม์ดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายของยา (drug target) ที่น่าสนใจสำหรับไวรัสสายพันธุ์นี้

คณะวิจัยจีนกลุ่มนี้จึงได้ระบุตัวยับยั้ง (inhibitor) ที่มีชื่อว่าเอ็น3 (N3) ที่มีความสามารถในการยับยั้งแบบผันกลับไม่ได้ (mechanism-based) ซึ่งจะไปทำให้เอนไซม์ไม่สามารถกลับคืนสู่รูปปกติ และสูญเสียคุณสมบัติของเอนไซม์ได้

โดยนักวิจัยใช้วิธีการออกแบบตัวยาด้วยคอมพิวเตอร์ ในการระบุโครงสร้างผลึกของเอนไซม์ชนิดโปรตีเอสของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ร่วมกับตัวยับยั้งเอ็น3 เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ซึ่งเป็นโครงสร้าง 3 มิติ จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีการระบุในโดเมนสาธารณะเป็นครั้งแรก

หลังจากนำสารประกอบมาวิเคราะห์ทางเคมีมากกว่า 10,000 รายการ ซึ่งมีทั้งยาที่ผ่านการอนุมัติ ยาที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก และสารประกอบที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส พบว่ามีหลายรายการที่สามารถยับยั้งโปรตีเอสได้ อาทิ ไดซัลฟิแรม (Disulfiram) คาร์โมเฟอร์ (Carmofur) เอบเซเลน (Ebselen) ชิโคนิน (Shikonin) ไทด์กลูซิบ (Tideglusib) และพีเอ็กซ์-19 (PX-12) ซึ่งนักวิจัยพบว่าทั้งเอบเซเลนและเอ็น3 มีปฏิกิริยาต้านไวรัสที่มีแนวโน้มดี ในการวิเคราะห์ทางเคมีในเซลล์

เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บรรดานักวิจัยทั่วโลกในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มุ่งไปที่ตัวยับยั้งเอ็น3 เป็นครั้งแรก คณะวิจัยจึงเปิดเผยรายการยาที่อยู่ระหว่างการทดลอง และโครงสร้างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัสชนิดนี้แก่สาธารณะ ไปตั้งแต่วันที่ 25-26 ม.ค. ตามลำดับ

ทั้งนี้ เหราและหยางได้เข้าร่วมในการวิจัยต้านไวรัสโคโรนามาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส (SARS) ระบาดในปี 2003 โดยพวกเขาได้ร่วมกันศึกษาโครงสร้างผลึกของเอนไซม์โปรตีเอสจากไวรัสที่ก่อโรคซาร์สและยังค้นพบตัวยับยั้งหลายตัวที่ใช้สำหรับไวรัสโคโรนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.