คุนหมิง, 14 ต.ค. (ซินหัว) — การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (COP15) ณ นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ให้การรับรอง “แถลงการณ์คุนหมิง” (Kunming Declaration) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันพุธ (13 ต.ค.) ที่ผ่านมา

หวงรุ่นชิว รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน ประกาศการรับรองแถลงการณ์คุนหมิงระหว่างการประชุมระดับสูงของการประชุมฯ ส่วนแรก พร้อมระบุว่าถือเป็นสัญญาณทรงพลังที่แสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงปณิธานในการแก้ไขปัญหาด้านการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการยกระดับการดำเนินการในประเด็นที่มีการหารือระหว่างการประชุมระดับสูง

แถลงการณ์คุนหมิงเป็นแถลงการณ์ทางการเมืองและความสำเร็จหลักของการประชุมฯ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนา การรับรอง และการดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานความหลากหลายทางชีวภาพโลกหลังปี 2020 อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพลิกกลับความเสียหายของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน และนำความหลากหลายทางชีวภาพกลับสู่หนทางแห่งการฟื้นฟูภายในปี 2030 เป็นอย่างช้า รวมถึงมุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ปี 2050 ของการ “อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” (Living in Harmony with Nature) อย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากนั้นแถลงการณ์คุนหมิงให้ความสำคัญกับแนวคิดของการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหประชาชาติ 2020 อันได้แก่ “อารยธรรมเชิงนิเวศน์ : การสร้างอนาคตร่วมกันเพื่อทุกชีวิตบนโลก” (Ecological Civilization: Building a Shared Future for All Life on Earth) โดยอารยธรรมเชิงนิเวศน์เป็นหลักปรัชญาที่จีนเป็นผู้นำเสนอ

การนำความหลากหลายทางชีวภาพกลับสู่หนทางแห่งการฟื้นฟูเป็นความท้าทายสำคัญแห่งทศวรรษ ซึ่งต้องการแรงกระตุ้นทางการเมืองที่แข็งแกร่งเพื่อพัฒนา รับรอง และดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานความหลากหลายทางชีวภาพโลกหลังปี 2020 ที่มุ่งมั่นทะเยอทะยานและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมเดินหน้าปฏิบัติตามข้อผูกพัน 17 ประการ

“แถลงการณ์คุนหมิงแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญต่อการประสบความสำเร็จ ซึ่งคือการทำให้ประเด็นนี้เป็นกระแสหลัก การปรับทิศทางการจัดสรรเงินอุดหนุน หลักนิติธรรม และการดำเนินการให้คนพื้นถิ่นและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ” เอลิซาเบธ มารูมา เมรมา เลขานุการฝ่ายบริหารประจำอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.