เหอเฝย, 26 ต.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนาต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ชื่อว่า “จิ่วจาง 2.0” (Jiuzhang 2.0) ซึ่งสามารถตรวจจับโฟตอนหรืออนุภาคของแสงได้สูงสุดถึง 113 โฟตอน นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญด้านการสร้างระบบประมวลผลด้วยเทคโนโลยีควอนตัม

การสุ่มตัวอย่างแบบเกาส์เซียน โบซอน หรือ จีบีเอส (GBS) ซึ่งเป็นอัลกอริทึมสร้างแบบจำลองดั้งเดิมถูกนำมาใช้ในการศึกษา เนื่องจากเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่แสดงให้เห็นถึงความเร็วของการประมวลผลแบบควอนตัมในการแก้ไขปัญหาที่กำหนดบางประการ

ด้วยความสามารถในการตรวจจับโฟตอนสูงถึง 113 โฟตอน จิ่วจาง 2.0 สามารถทำการสุ่มแบบจีบีเอสขนาดใหญ่ได้เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ถึงหนึ่งล้านล้านล้านล้านเท่า (septillion) หรือกล่าวง่ายๆ คือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกจะใช้เวลาราว 30 ล้านล้านปี เพื่อแก้ปัญหาที่ “จิ่วจาง 2.0” สามารถแก้ได้ในเวลาเพียงแค่ 1 มิลลิวินาที

ผลการศึกษานี้ซึ่งนำโดยพานเจี้ยนเหว่ย นักฟิสิกส์ควอนตัมชาวจีนชื่อดัง ได้รับการตีพิมพ์ทางออนไลน์ในวารสารฟิสิคัล รีวิว เลตเตอร์ส (Physical Review Letters) เมื่อวันจันทร์ (25 ต.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง

เมื่อเดือนธันวาคม 2020 คณะนักวิจัยพัฒนาต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัม “จิ่วจาง” ซึ่งสามารถตรวจจับโฟตอนหรืออนุภาคของแสงได้สูงสุดถึง 76 โฟตอน สร้างความได้เปรียบด้านการประมวลผลแบบควอนตัม โดยระบบการประมวลของจิ่วจางสามารถทำการสุ่มแบบจีบีเอสขนาดใหญ่ได้เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกถึง 100 ล้านล้านเท่า

ลู่เฉาหยาง สมาชิกคณะนักวิจัยและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนกล่าวว่า “เมื่อเทียบกับจิ่วจางรุ่นแรก คณะนักวิจัยได้ปรับปรุงสมรรถภาพและประสิทธิภาพด้านการกักเก็บแหล่งกำเนิดแสงควอนตัม ทั้งยังเพิ่มจำนวนโฟตอนที่สามารถตรวจจับได้ และแสดงให้เห็นว่าระบบประมวลผลแบบจีบีเอสนี้สามารถถูกโปรแกรมได้เป็นระยะ”

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยระบุว่าความสามารถด้านการประมวลผลระดับสูงของ “จิ่วจาง 2.0” อาจนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาความรู้ด้านต่างๆ ได้ เช่น ทฤษฎีกราฟ การเรียนรู้ของเครื่องจักร (machine learning) และเคมีควอนตัม เป็นต้น

(ภาพจากคณะนักวิจัย : อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ของ “จิ่วจาง 2.0” ต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมรุ่นใหม่ วันที่ 26 ต.ค. 2021)

 

(Xinhua Silk Road – https://en.imsilkroad.com/p/324471.html)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.