275 views

ฝูโจว, 22 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (19 ก.ค.) ศาลประชาชนชั้นสูงมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของจีน ปฏิเสธคำอุทธรณ์ของนักสะสมชาวเนเธอร์แลนด์ โดยยึดคำตัดสินเดิมที่กำหนดให้นักสะสมคนนี้ส่งคืน “รูปปั้นพระสงฆ์มัมมี่” อายุพันปีที่ถูกลักขโมยไปแก่ชาวบ้านในฝูเจี้ยน

รูปปั้นนี้เป็นของจางกงจู่ซือ พระสงฆ์จากสมัยราชวงศ์ซ่ง (ปี 960-1279) ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากการรักษาโรคภัยไข้เจ็บและเผยแพร่ความเชื่อพุทธศาสนา โดยหลังจากถึงแก่กรรมในวัย 37 ปี ร่างของเขาได้ถูกนำมาทำเป็นมัมมี่ตามความปรารถนาและบรรจุด้านในรูปปั้น

รูปปั้นดังกล่าวได้ถูกเก็บรักษาที่วัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ที่ปัจจุบันรู้จักในฐานะเมืองซานหมิงของฝูเจี้ยน และเป็นที่สักการะของคนท้องถิ่นเนิ่นนานกว่า 1,000 ปี ก่อนจะถูกลักลอบนำออกจากวัดในปี 1995

บรรดาชาวบ้านพากันค้นหารูปปั้นจางกงจู่ซือที่สูญหายไป กระทั่งพบรูปปั้นนี้ในนิทรรศการที่ฮังการีในปี 2015 ทว่าต่อมาพวกเขาไม่อาจเจรจาขอคืนรูปปั้นจากออสการ์ วาน โอเวอร์รีม ชายสัญชาติเนเธอร์แลนด์ผู้เป็นเจ้าของรูปปั้นในขณะนั้นได้สำเร็จ

ศาลประชาชนชั้นกลางซานหมิงขึ้นทะเบียนคดีความข้างต้นในปี 2015 และจัดการพิจารณาคดี 2 ครั้งในปี 2018 ก่อนมีคำสั่งให้วาน โอเวอร์รีมคืนรูปปั้นให้โจทก์ ซึ่งคือคณะกรรมการชาวหมู่บ้านหยางชุนและหมู่บ้านตงผู่ ภายใน 30 วัน เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2020 โดยหมู่บ้านทั้งสองเป็นเจ้าของวัดที่เก็บรูปปั้นโบราณร่วมกัน อย่างไรก็ดีนักสะสมชาวเนเธอร์แลนด์คนนี้ได้ยื่นอุทธรณ์หลังการพิจารณาคดีครั้งแรกไม่นาน

ด้านศาลประชาชนชั้นสูงของฝูเจี้ยนยังคงคำตัดสินเดิมระหว่างการพิจารณาคดีครั้งที่สอง ซึ่งระบุว่ารูปปั้นจางกงจู่ซือเป็นสมบัติส่วนรวมที่สืบทอดในพื้นที่นี้มาหลายชั่วอายุคน ทำให้การเป็นเจ้าของรูปปั้นร่วมกันของชาวหมู่บ้านหยางชุนและตงผู่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะวาน โอเวอร์รีม ซึ่งอ้างว่าซื้อรูปปั้นดังกล่าวมาในปี 1996 ไม่ได้มอบเอกสารการจัดซื้อเป็นหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด

ระหว่างการอุทธรณ์ ศาลชั้นสูงดังกล่าวกำหนดว่ารูปปั้นนี้มีสถานะเป็นโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกลักขโมยและส่งออกอย่างผิดกฎหมาย รูปปั้นนี้มีความเชื่อมโยงอันแสนพิเศษกับเหล่าชาวบ้าน ทั้งสะท้อนถึงขนบธรรมเนียมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงควรถูกส่งคืนเมื่อพิจารณาตามกฎหมาย ความมีเหตุผลและคุณค่าทางจิตใจ

เมื่อปี 2016 ศาลเนเธอร์แลนด์ได้ขึ้นทะเบียนคดีความข้างต้นหลังจากมีการยื่นฟ้องโดยคณะกรรมการชาวหมู่บ้านทั้งสอง และมีการไต่สวนแบบเปิดเผยครั้งแรกในกรุงอัมสเตอร์ดัมในปีถัดมา ทว่าศาลได้ยกฟ้องคดีนี้ในเดือนธันวาคม 2018 โดยตัดสินว่าคณะกรรมการชาวหมู่บ้านกลุ่มนี้ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีคุณสมบัติยื่นฟ้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.