167 views

หลานโจว, 3 มี.ค. (ซินหัว) — ท้องฟ้าปลอดโปร่งเมื่อดวงตะวันลอยเด่นเหนือทะเลทรายโกบีอันกว้างใหญ่ บานกระจก 12,000 บานที่เบ่งบานราวกับดอกทานตะวัน ถูกจัดเรียงเป็นวงกลมหันหน้าเข้าศูนย์กลาง เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์เข้าสู่หอคอยดูดซับความร้อน

นี่คือสถานีพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เทคโนโลยีเกลือหลอมเหลวที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อันเป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่อุดมสมบูรณ์

ตัวดูดซับความร้อนที่อยู่บนหอคอยความสูง 260 เมตรนั้นจะสะสมพลังงานเก็บไว้เพื่อหลอมเหลวเกลือที่ไหลอยู่ภายใน จากนั้นเกลือหลอมเหลวจะสร้างไอน้ำที่มีอุณหภูมิและแรงดันสูง เพื่อขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันไอน้ำให้ผลิตกระแสไฟฟ้า

(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 24 ก.พ. 2021)

สถานีไฟฟ้าแห่งนี้ก่อสร้างโดยบริษัทโส่วหัง รีซอสส์ เซฟวิง ตุนหวง ซีเอสพี พาวเวอร์ เจเนเรติง จำกัด (Shouhang Resources Saving Dunhuang CSP Power Generating Co. , Ltd.) เริ่มเปิดทำการในเดือนธันวาคม 2018 โดยถูกออกแบบให้มีกำลังผลิตไฟฟ้า 390 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี

หลิวฝูกั๋ว ผู้จัดการทั่วไปของสถานีกล่าวว่า เมื่อสถานีแห่งนี้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ มันจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งทำให้หลอดไฟขนาด 100 วัตต์จำนวน 1 ล้านหลอดสามารถส่องสว่างได้นาน 1 ชั่วโมง

เนื่องจากมณฑลกานซู่เป็นผู้ให้บริการไฟฟ้ารายใหญ่ในโครงการ “ระบบส่งไฟฟ้าจากตะวันตกไปตะวันออก” สถานีแห่งนี้จึงได้ส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างแก่อาคารหลายพันหลังในภาคตะวันออกของจีน ผ่านเครือข่ายสายส่งที่กว้างขวาง

หลิวกล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นเทคโนโลยีพลังงานใหม่ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นต้องเผาเชื้อเพลิงหรือสร้างมลพิษ

เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แบบดั้งเดิม สถานีไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์แห่งนี้สามารถกักเก็บความร้อนไว้ได้ อันเป็นการรับรองความต่อเนื่องและเสถียรภาพในการผลิตพลังงาน ซึ่งมาช่วยเติมเต็มการผลิตพลังงานแสงระบบดั้งเดิม ที่ยังต้องพึ่งพาสภาพอากาศ

“หากเราเปรียบแผงกระจกเหล่านี้ว่าเป็นตัวดูดพลังงานแสงอาทิตย์ หม้อเกลือหลอมเหลวก็เปรียบเหมือนตัวสะสม ซึ่งช่วยให้เราสามารถเก็บสะสมพลังงานและนำไปใช้ตามความต้องการได้ในภายหลัง” หลิวกล่าว

“แม้ในยามค่ำคืนหรือยามที่ฝนตก มันก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ถึงระดับสูงสุด” เขากล่าวเสริม

(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์แบบเกลือหลอมเหลว ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 26 ธ.ค. 2018)

หลายปีมานี้ จีนได้ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยสมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาพลังงานของจีนที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2020 ระบุว่าในปี 2019 สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดของจีนคิดเป็นร้อยละ 23.4 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ เพิ่มขึ้น 8.9 จุดจากปี 2012

นอกจากนี้ จีนยังปฏิญาณว่าจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 ก่อนจะบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060

คนวงในของภาคส่วนนี้เชื่อว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ โดยมีสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าสถานีแห่งนี้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 350,000 ตันต่อปี เทียบเท่าการปลูกป่าบนพื้นที่ราว 666.67 เฮกตาร์ (ราว 4,166 ไร่)

หวงเหวินโป๋ รองประธานบริษัทโส่วหัง ไฮ-เทค เอ็นเนอร์จี เทคโนโลยี จำกัด (Shouhang Hi-Tech Energy Technology Co. , Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทข้างต้นในตุนหวง ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในทั่วโลกนั้นยังอยู่ในระยะการพัฒนา

หวงทิ้งท้ายว่าการดำเนินการอย่างราบรื่นของสถานีไฟฟ้าตุนหวง เป็นต้นแบบของการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในจีน และได้ช่วยสั่งสมประสบการณ์ทางเทคนิคในการที่จีนจะก้าวไปสู่ตลาดพลังงานใหม่ในทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.