(แฟ้มภาพซินหัว : รถไฟหัวกระสุน “ล้านช้าง” เดินทางถึงชายแดนบ่อเต็นทางตอนเหนือของลาว หลังจากวิ่งผ่านเส้นพรมแดนจีน-ลาว วันที่ 15 ต.ค. 2021)

เวียงจันทน์, 21 ต.ค. (ซินหัว) — เมื่อช่วงเช้าวันพุธ (20 ต.ค.) รถไฟวิ่งทดสอบขบวนแรกออกเดินทางจากสถานีเวียงจันทน์ของทางรถไฟจีน-ลาว และมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังเมืองบ่อเต็น ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน เพื่อเริ่มการทดสอบประสิทธิภาพและการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์บนทางรถไฟจีน-ลาว

การทดสอบดังกล่าวเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนเปิดใช้งานทางรถไฟอย่างเป็นทางการ มุ่งทดสอบทุกระบบแบบบูรณาการโดยให้รถไฟวิ่งตามความเร็วที่กำหนดด้วยการใช้อุปกรณ์ทดสอบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระบบ การหาจุดบกพร่อง และการปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำหรับการเปิดใช้งาน

รายการทดสอบหลักประกอบด้วยการตรวจสอบค่าทางเรขาคณิตของราง แหล่งจ่ายไฟ ระบบสื่อสารและส่งสัญญาณ ระบบบริการผู้โดยสารและขนส่งสินค้า เสียง การสั่นสะเทือน สภาพแวดล้อมทางแม่เหล็กไฟฟ้า ฯลฯ

บริษัท การรถไฟลาว-จีน จำกัด (LCRC) ระบุว่าสถาบันวิทยาศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศจีนจะรับผิดชอบการทดสอบประสิทธิภาพและการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ ซึ่งอาจกินเวลาราว 18 วัน โดยสถาบันฯ เป็นองค์กรแห่งเดียวที่มีคุณสมบัติจัดการทดสอบดังกล่าวสำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟในจีน และเคยมอบบริการแก่หลายโครงการในต่างประเทศมาแล้ว อาทิ รถไฟมอมบาซา-ไนโรบี และรถไฟแอดดิสอาบาบา-จิบูตี

คณะวิศวกรชาวจีนจะวิเคราะห์ข้อมูลการทดสอบทางรถไฟอย่างเข้มงวดโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์ ประเมินผลทดสอบอย่างเคร่งครัดตามข้อกำหนดรายการทดสอบและมาตรฐาน พร้อมปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขระบบอย่างละเอียดโดยอิงจากผลการทดสอบ จนกว่าระบบทั้งหมดจะสอดคล้องตามข้อกำหนดการทำงานอันปลอดภัยและมีเสถียรภาพของทางรถไฟ

ทางรถไฟจีน-ลาวเป็นโครงการเชื่อมต่อเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน และยุทธศาสตร์ของลาวในการเปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก

ทั้งนี้ ทางรถไฟโดยสารและรถไฟสินค้าที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าสายนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยนำมาตรฐานการจัดการและเทคนิคของจีนมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 และมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021

 

(Xinhua Silk Road – https://en.imsilkroad.com/p/324397.html)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.