(แฟ้มภาพซินหัว : นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ในจังหวัดระยอง วันที่ 29 ธ.ค. 2021)

กรุงเทพฯ, 18 พ.ย. (ซินหัว) — วิชิต นิวาน ช่างเทคนิคของบริษัท เหลิน ชวง ดิสเพนซิ่ง พัมพ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์หัวปั๊มของเหลวและวาล์วพ่นละอองลอยสัญชาติจีนในไทย เผยว่าเขาภูมิใจที่มักเห็นสินค้าบรรจุภัณฑ์ของใช้ในห้องน้ำที่ผลิตโดยโรงงานหรืออาจจะโดยตัวเขาเอง

บริษัท เหลิน ชวง ดิสเพนซิ่ง พัมพ์ (ไทยแลนด์) จำกัด เริ่มดำเนินงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ตั้งแต่ปี 2016 มีพนักงานมากกว่า 300 คน แต่ละวันสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์แบบหัวปั๊ม 3.2 ล้านชิ้น และบรรจุภัณฑ์แบบวาล์วพ่น 500,000 ชิ้น เพื่อจำหน่ายในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วิชิตเล่าว่าเขาทำงานที่นี่มานาน 5 ปีแล้ว เดิมทีอยู่บ้านเช่าก่อนจะมีกำลังทรัพย์พอซื้อบ้านและพาครอบครัวมาอยู่ด้วย ซึ่งการทำงานที่นี่ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น มีชาวจีนช่วยสอนวิธีการใช้เครื่องจักร พวกพนักงานได้เรียนรู้จากชาวจีนเยอะมาก โดยปัจจุบันวิชิตทำงานตำแหน่งหัวหน้าแผนกแม่พิมพ์

อนึ่ง นิคมอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน ก่อตั้งปี 2006 เป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมนอกประเทศชุดแรกของจีน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของบริษัททุนจีนมากกว่า 180 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร โดยมีการลงทุนจากจีนมากกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.54 แสนล้านบาท) และสร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 45,000 อัตรา

จ้าวปิน ประธานบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมฯ คาดการณ์ว่าอนาคตนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะรองรับบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 500 ราย และสร้างงานในท้องถิ่นมากกว่า 100,000 อัตรา

ณัฐวุฒิ หล่อบุญ ผู้ทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมฯ อีกคน ได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเฉกเช่นเดียวกับวิชิต หลังจากเริ่มต้นทำงานแรกที่บริษัท ดุ้นอัน เมทอลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศสัญชาติจีน เมื่อ 8 ปีก่อน

“ยอดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นทุกปี ผมทำงานหนักมากจนความพยายามทั้งหมดช่วยให้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนก การได้เติบโตร่วมกับบริษัทนั้นยอดเยี่ยมมาก” ณัฐวุฒิกล่าว พร้อมเสริมว่าการลงทุนจากผู้ประกอบการชาวจีนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น สร้างงาน และบรรเทาความยากจนในภูมิภาค

จ้าวกล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมฯ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพราะแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) กลุ่มบริษัทจีนเข้ามาตั้งฐานการดำเนินงานในนิคมอุตสาหกรรมฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้เกิดโรคระบาดใหญ่ โดยตั้งแต่ปี 2021 มีบริษัทเปิดใหม่มากกว่า 30 ราย

การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรมฯ เดินหน้าต่อเนื่องเพื่อรองรับธุรกิจต่างๆ ที่ลงทุนในไทยให้ดียิ่นขึ้น โดยการก่อสร้างพื้นที่การผลิต พื้นที่สินค้าทัณฑ์บน พื้นที่โลจิสติกส์ และพื้นที่อยู่อาศัย ถูกวางแผนอย่างดีและเป็นไปตามแผนการ

นิคมอุตสาหกรรมฯ ยังตั้งเป้าหมายอำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือเชิงลึกระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำตามแนวห่วงโซ่อุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจยานยนต์ที่มีบริษัทยางล้อรถอยู่มากกว่า 10 ราย ก่อให้เกิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก

ขณะเดียวกันความสามารถจับคู่ทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวจีนจากหลากหลายภาคส่วนอย่างอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ยานยนต์ วัสดุใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอัจฉริยะ ด้านผู้ประกอบการชาวจีนชั้นนำในภาคการสื่อสารและใยแก้วนำแสงเข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งช่วยอุดช่องโหว่ทางเทคโนโลยีในท้องถิ่น

อนึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้เชิญชวนจีนขยายการลงทุนในไทย ระบุว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยพร้อมต้อนรับการลงทุนจากบริษัทจีนในหลายภาคส่วน อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการเกษตร

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกัน 9 ปี และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรแห่งสำคัญของไทย โดยปริมาณการค้าทวิภาคีในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 1.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.71 ล้านล้านบาท)

ด้าน หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ซึ่งเยือนไทยเมื่อเมษายนที่ผ่านมา กล่าวว่าจีนสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการจีนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโครงการสำคัญในไทยอย่างแข็งขัน และส่งเสริมการสานต่อผลลัพธ์ของนิคมอุตสาหกรรมระยอง จีน-ไทย รวมถึงดำเนินโครงการนำร่องและสาธิตที่เกี่ยวข้องในไทยต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.