รูปปั้นสัมฤทธิ์ชายคุกเข่าหัวเทินจุนนั่งบนหลังสัตว์

ปักกิ่ง, 11 มิ.ย. (ซินหัว) — เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ช่วยนักโบราณคดีจีนประกอบร่างเครื่องสัมฤทธิ์โบราณเก่าแก่ที่พบในหลุมบูชายัญ 8 แห่ง ณ ซากโบราณซานซิงตุย ให้กลับคืนสู่หน้าตาที่เคยเป็นเมื่อราว 3,000 ปีก่อน โดยสถาบันวิจัยทางโบราณคดีและโบราณวัตถุมณฑลเสฉวนเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) ว่าหน้าตาฉบับสมบูรณ์ของเครื่องสัมฤทธิ์โบราณขนาดใหญ่ 2 ชิ้นได้สร้างความตื่นตะลึงให้เหล่านักโบราณคดีไม่น้อย

ถังเฟย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางโบราณคดีฯ ให้ความเห็นไว้ว่า หน้าตาดั้งเดิมของเครื่องสัมฤทธิ์เหล่านี้แปลกประหลาดและน่าตกตะลึกมากกว่าที่เขาคาดไว้ “มันเปี่ยมด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์”

ถังเฟยกล่าวว่าเครื่องสัมฤทธิ์ทั้งสองชิ้นประกอบด้วยรูปปั้นสัมฤทธิ์ชายคุกเข่านั่งอยู่บนหลังสัตว์และเทิน “จุน” หรือภาชนะทรงคล้ายคนโทไว้บนศีรษะ ส่วนอีกชิ้นคือรูปปั้นเทวรูปเศียรคนเท้านกเทินจุนในท่ายกลำตัวขึ้นไปด้านหลังและเกาะอยู่บน “เหลย” หรือภาชนะบรรจุสุราสมัยโบราณ ซึ่งทั้งสองชิ้นล้วนประกอบขึ้นจากเศษซากที่กระจัดกระจายอยู่ในหลุมบูชายัญหลายหลุม

เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยของโครงสร้างวัตถุ เจ้าหน้าที่จึงยังไม่สามารถประกอบชิ้นส่วนโบราณวัตถุเหล่านี้เข้าด้วยกันได้จริง ดังนั้นจึงใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การสแกน 3 มิติและแบบจำลอง 3 มิติ ในการคืนชีพหน้าตาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของสมบัติชาติเหล่านี้จนสำเร็จ

รูปปั้นสัมฤทธิ์ชายคุกเข่านั่งบนหลังสัตว์และเทินจุนนั้น สูง 1.589 เมตร แบ่งเป็นส่วนบน กลาง และล่าง ซึ่งเชื่อว่าสัตว์ที่เขาขี่อยู่นั้นเป็น “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ข้อมูลระบุว่า ส่วนปากของจุนสัมฤทธิ์ถูกพบจากหลุมบูชายัญหมายเลข 2 รูปปั้นคนนั่งคุกเข่าเทินจุนพบจากหลุมบูชายัญหมายเลข 3 ขณะที่สัตว์ศักดิ์สิทธิ์มาจากหลุมบูชายัญหมายเลข 8

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในท่ายืดอกเชิดหัว เท้าทั้งสี่กำยำแข็งแรงดูน่าเกรงขาม บนหัวมีรูปปั้นคนสัมฤทธิ์ในอาภรณ์ที่สวยงามยืนอยู่ ส่วนรูปสัมฤทธิ์คนคุกเข่าตรงกลางนั้นมีลักษณะคิ้วหนาตาโต ใส่มงกุฎ ท่อนบนสวมเสื้อแขนยาวผ่ากลางลวดลายเมฆ ท่อนล่างสวมกระโปรงสั้นลายดวงตา สองแขนยกขึ้นไปด้านหน้าในระดับอก ส่วนบนเป็นจุนสามท่อนที่ถูกประดับตกแต่งด้วยรูปปั้นมังกรและสัตว์แบบลอยตัว

รูปปั้นสัมฤทธิ์สัตว์ศักดิ์สิทธิ์

ถังเฟยคาดว่าเครื่องสัมฤทธิ์กลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงฉากทัศน์ของการบูชายัญในอดีตกาล รูปปั้นคนคุกเข่าบนหลังสัตว์ศักดิ์สิทธิ์น่าจะมีสถานะเป็นหมอผี เพราะการคุกเข่าเป็นท่าทางที่ใช้แสดงความเคารพอย่างสูงต่อเทพเจ้าขณะประกอบพิธีกรรมในสมัยโบราณ ส่วนชายที่ยืนอยู่บนส่วนหัวของสัตว์อาจเป็นสัญลักษณ์ของราชาแห่งอาณาจักรสู่โบราณ ขณะจุนที่ถูกเทินไว้บนหัวของคนคุกเข่ามีเอกลัษณ์ของวัฒนธรรมจีนในพื้นที่ราบลุ่มตอนกลาง และสันนิษฐานว่าด้านในจุนน่าจะบรรจุเครื่องบูชา เช่น เปลือกหอย หยก และสุราไว้

ด้านเทวรูปเศียรคนเท้านกเทินจุนในท่ายกลำตัวขึ้นไปด้านหลังนั้นสูง 2.53 เมตร ประกอบด้วยสองส่วนหลักคือเหลยและเทพเจ้า เทวรูปหัวคนเท้านก ถูกพบจากหลุมบูชายัญหมายเลข 2 ส่วนฝาปิดจุนที่มีมังกรสัมฤทธิ์ปีนป่ายอยู่นั้นถูกพบจากหลุมหมายเลข 3 ขณะที่ส่วนลำตัวที่โค้งงอของเทวรูปในท่าเทินจุนและเกาะอยู่บนเหลย รูปปั้นสัมฤทธิ์คนยืนถือมังกร และภาชนะสัมฤทธิ์ที่มีรูปร่างคล้ายคฑานั้น ถูกพบจากหลุมหมายเลข 8

เทวรูปในท่ากลับหัวกลับหางข้างต้น มีดวงตาปูดโปน มีเขี้ยว พระเศียรเทินจุน พระหัตถ์วางบนเหลย พระบาทมีลักษณะเป็นกรงเล็บนกเหยียบอยู่บนนกอีกที ลำตัวโค้งงอไปด้านหลัง พระเพลากำยำแข็งแรง เห็นได้ชัดว่าเป็นเทพมิใช่มนุษย์

 

เทวรูปเศียรคนเท้านกเทินจุน

ถังเฟยกล่าวว่า ส่วนประกอบหลายชิ้นของเครื่องสัมฤทธิ์ทั้งสองนี้หล่อขึ้นแยกกัน ทั้งมีขนาดใหญ่และมีรูปทรงซับซ้อน คาดว่าเป็นรูปแบบศิลปะเครื่องบูชายัญของชาวสู่โบราณเมื่อ 3,000 ปีก่อน สะท้อนถึงฝีมือการทำเครื่องสัมฤทธิ์ที่วิจิตรงดงามของบรรพบุรุษชาวซานซิงตุย ตลอดจนอัตลักษณ์ของอารยธรรมสู่โบราณ ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนตอนกลาง ฉายชัดว่าอารยธรรมจีนนั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนาน กว้างขวาง ลุ่มลึก มีลักษณะของพหุวัฒนธรรมอันมีเอกภาพ

การประกอบชิ้นส่วนโบราณวัตถุที่มาจากคนละหลุมเหล่านี้ พิสูจน์ให้เห็นว่าหลุมบูชายัญหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าวมีอายุอยู่ในยุคสมัยใกล้เคียงกัน และช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องยุคสมัยและรูปแบบของการบูชายัญในทางโบราณคดี ขณะเดียวกันการอนุรักษ์และฟื้นฟูโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบเหล่านี้ถือเป็นอีกภารกิจที่สำคัญมากในปัจจุบัน

อนึ่ง รูปปั้นสัมฤทธิ์ชายคุกเข่านั่งบนหลังสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ได้รับการยืนยันเบื้องต้นแล้วว่าเป็นหน้าตาฉบับสมบูรณ์ ขณะที่รูปปั้นเทวรูปเศียรคนเท้านกเทินจุนอาจมีส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: