(ภาพจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา : ชิ้นส่วนฟอสซิลกระดูกด้านข้างศีรษะของมนุษย์ซึ่งค้นพบบริเวณตำแหน่งที่ 15 ของแหล่งโบราณคดีโจวโข่วเตี้ยนของจีน)

ปักกิ่ง, 18 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยการค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลกระดูกด้านข้างศีรษะของมนุษย์ ณ แหล่งโบราณคดีโจวโข่วเตี้ยน ย่านชานเมืองกรุงปักกิ่ง

ทีมวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบฟอสซิลดังกล่าวท่ามกลางฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ณ ตำแหน่งที่ 15 ของแหล่งโบราณคดีฯ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ซีที สแกน (CT scan) และการจำลอง 3 มิติ โดยฟอสซิลนี้จัดเป็นฟอสซิลมนุษย์ยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ชิ้นแรกที่พบในแหล่งโบราณคดีดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 1973

อนึ่ง ตำแหน่งที่ 15 ถูกค้นพบในปี 1932 และอยู่ห่าง 70 เมตร จากตำแหน่งที่ 1 หรือแหล่งโบราณคดีมนุษย์ปักกิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เผยเหวินจง นักโบราณคดีชาวจีน ค้นพบกะโหลกศีรษะสภาพสมบูรณ์ของมนุษย์ปักกิ่งครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1929 โดยนักโบราณคดียังขุดพบเครื่องหินและฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากที่สามารถสืบอายุย้อนกลับราว 200,000 ปี ณ ตำแหน่งที่ 15

อู๋ซิ่วเจี๋ย จากทีมวิจัย ระบุว่าฟอสซิลชิ้นใหม่จะช่วยนักวิทยาศาสตร์สำรวจวิวัฒนาการของมนุษย์ในภูมิภาคผ่านการศึกษาทางกายวิภาคเปรียบเทียบและชีวโมเลกุล รวมถึงเป็นสื่อสำคัญสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการวิวัฒนาการของมนุษย์โบราณในจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.