(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยดูแลระบบอ้างอิงเวลาในศูนย์บริการเวลาแห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ตอน 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น วันที่ 1 ก.ค. 2019)

หลานโจว, 12 ก.ย. (ซินหัว) — จีนเริ่มต้นการก่อสร้างสถานีจับเวลาตุนหวงในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งใช้เงินลงทุนรวม 180 ล้านหยวน (ราว 879 ล้านบาท) ระยะเวลา 3 ปี เป็นส่วนหนึ่งของระบบจับเวลาภาคพื้นดินที่มีความแม่นยำสูงของจีน ประกอบด้วยระบบเสาอากาศ ห้องส่งสัญญาณ และสถานีเฝ้าติดตามเวลา

รายงานระบุว่าจีนจะมีสัญญาณจับเวลาแบบคลื่นยาวครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ หลังจากเพิ่มสถานีจับเวลาแบบคลื่นยาว จำนวน 3 แห่ง เข้าสู่ระบบจับเวลาแบบคลื่นยาวที่มีอยู่ โดยสถานีฯ ทั้งสามแห่งจะอยู่ที่เมืองตุนหวง เมืองคู่เอ่อร์เล่อของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และเมืองน่าชวีของเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง)

ขณะเดียวกันความแม่นยำในการจับเวลาแบบคลื่นยาวของระบบข้างต้นจะสูงแตะ 100 นาโนวินาที ซึ่งถือเป็นระดับชั้นนำของโลก

จางโส่วกัง ผู้อำนวยการและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของศูนย์บริการเวลาแห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เผยว่าระบบจับเวลาภาคพื้นดินที่มีความแม่นยำสูงนี้มุ่งยกระดับความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และความแม่นยำของระบบจับเวลาของจีน รวมถึงตอบสนองความต้องการความถี่เวลาแบบแม่นยำสูงของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานและโครงการวิศวกรรม

จางเสริมว่าระบบจับเวลาภาคพื้นดินที่มีความแม่นยำสูงนี้มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความพยายามรับประกันการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และความมั่นคงของชาติ

จางทิ้งท้ายว่าจีนจะสร้างระบบจับเวลาระดับชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยการผนวกระบบจับเวลาภาคพื้นดินที่มีความแม่นยำสูง เข้ากับระบบจับเวลาด้วยดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BDS) และระบบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้านความถี่เวลาบนสถานีอวกาศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.