(แฟ้มภาพซินหัว : เกษตรกรเพาะปลูกชาในอำเภอจื่อกุย เมืองอี๋ชาง มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 22 พ.ย. 2023)

ปักกิ่ง, 12 ธ.ค. (ซินหัว) — หนังสือพิมพ์ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี (Science and Technology Daily) ของจีน รายงานว่ากลุ่มนักวิจัยของจีนได้จัดทำแผนที่แพนจีโนม (pan-genome) ของต้นชาฉบับแรก และจัดลำดับแพนจีโนมของชา 22 พันธุ์เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเอื้อต่อการปรับปรุงสายพันธุ์ชาที่ใช้ประโยชน์จากจีโนม

ชาเป็นหนึ่งในพืชเก่าแก่ที่สุดของโลก และปลูกเพื่อนำมาผลิตเครื่องดื่มที่มีรสชาติหลากหลาย แม้จะมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการจัดลำดับ แต่กลไกทางพันธุกรรมที่เป็นรากฐานของลักษณะทางการเกษตรที่สำคัญของชายังคงไม่ชัดเจน

คณะนักวิจัยจากสถาบันจีโนมทางการเกษตรในนครเซินเจิ้น สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และสถาบันอื่นๆ คัดเลือกชา 22 พันธุ์ ซึ่งเป็นตัวแทนความหลากหลายทางพันธุกรรมของต้นชาในวงกว้างสำหรับการจัดลำดับแพนจีโนม และสร้างแผนที่แพนจีโนมฉบับสมบูรณ์

งานวิจัยข้างต้นซึ่งเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ แพลนต์ส (Nature Plants) ค้นพบความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างอัลลีลแบบต่างๆ และสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับรสชาติ และยังค้นพบยีนสำคัญจำนวนมากที่เกี่ยวกับลักษณะทางการเกษตร อาทิ สีของใบ และกลิ่นชา

การค้นพบเหล่านี้ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจในพื้นฐานทางพันธุกรรมของคุณภาพชาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และส่งมอบทรัพยากรทางจีโนมที่มีคุณค่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเพาะพันธุ์สายพันธุ์ชาที่ใช้ประโยชน์จากจีโนม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.