ปักกิ่ง, 15 ม.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ คณะนักวิจัยของจีนเปิดเผยว่าน้ำตาลกลูโคสในสมองอาจกระตุ้นปฏิกิริยาความทนทานต่อเชื้อราบางชนิด ซึ่งมีส่วนส่งเสริมการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา

คริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) เป็นเชื้อราที่มีการติดเชื้อในสมองมนุษย์ นำสู่โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา และการเสียชีวิตของผู้คนราว 180,000 รายต่อปี โดยปัจจุบันมีเพียงยาแอมโฟเทอริซิน บี. (amphotericin B.) ที่ใช้รักษาฆ่าเชื้อได้

อย่างไรก็ดี แม้ยาแอมโฟเทอริซิน บี. จะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราข้างต้นอย่างดีเยี่ยมระหว่างการทดลอง แต่ยังมีอุบัติการณ์ของการรักษาล้มเหลวในระดับสูง และการติดเชื้อราดังกล่าวซ้ำในเยื่อหุ้มสมองโดยยังคงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

คณะนักวิจัยจากสถาบันจุลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ดำเนินการคัดกรองตัวอย่างปริมาณมาก และตรวจสอบเนื้อเยื่อสมองจากหนูและน้ำไขสันหลังของมนุษย์ เพื่อสำรวจผลกระทบสารในกระบวนการสร้างและสลาย (metabolites) หลายร้อยชนิดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชื้อรากับยาข้างต้น

ผลการตรวจสอบพบว่าน้ำตาลกลูโคสในสมองกระตุ้นปฏิกิริยาความทนทานต่อเชื้อราบางชนิดผ่านโปรตีนคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ และมิก1 (Mig1) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการยับยั้งน้ำตาลกลูโคส

คณะนักวิจัยพบว่ามิก1 ในหนูทดลองได้ยับยั้งการสังเคราะห์เออร์โกสเตอรอล (ergosterol) ส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อรา ซึ่งเป็นเป้าหมายของยาแอมโฟเทอริซิน บี. และส่งเสริมการผลิตอิโนซิทอล ฟอสฟอริล เซราไมด์ (inositol phosphorylceramide) ส่วนประกอบอีกตัวของเยื่อหุ้มเซลล์เชื้อรา ซึ่งต่อสู้กับยาแอมโฟฯ เพื่อสังเคราะห์เออร์โกสเตอรอล ทำให้จำกัดประสิทธิภาพของยา ต่อจากนั้นคณะนักวิจัยพบว่าการใช้ตัวยับยั้งอิโนซิทอล ฟอสฟอริล เซราไมด์ ร่วมกับยาแอมโฟเทอริซิน บี. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัสในหนู

อนึ่ง ผลการศึกษานี้เผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ ไมโครไบโอโลจี (Nature Microbiology)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.