(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่สัมผัสประสบการณ์สมจริงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 5G ที่พิพิธภัณฑ์คลองใหญ่แห่งประเทศจีนในเมืองหยางโจว มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน วันที่ 14 มิ.ย. 2023)

เบอร์ลิน, 5 มี.ค. (ซินหัว) — ผลการศึกษาจากมูลนิธิเบอร์เทลสแมนน์ (Bertelsmann Stiftung) คลังสมองของเยอรมนี พบว่าจีน “ผงาดขึ้นมาอย่างรดวเร็ว” ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศวิจัยเทคโนโลยีอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลก

การศึกษาดังกล่าวชี้ว่าไม่มีประเทศใดสามารถเทียบเคียงจีนในแง่พลวัตทางการวิจัย เนื่องจากจีนเป็น “ตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญที่สุด” ในแวดวงเทคโนโลยีอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และจีนครองอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ในแง่สิทธิบัตรเทคโนโลยีเฉพาะในสิบเปอร์เซ็นต์แรกของโลก

จีนมีสิทธิบัตรเทคโนโลยีอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าเป็น 37,000 ฉบับ เมื่อนับตั้งแต่ปี 2017 สวนทางกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีสิทธิบัตรดังกล่าวเพิ่มขึ้นน้อยลง

จีนจัดอยู่ในแหล่งวิจัยสามอันดับแรกของโลกในเกือบทุกหมวดหมู่ของการวิจัย และครองอันดับหนึ่งในหมวดหมู่ “วัสดุสิ้นเปลืองและการรีไซเคิลที่ยั่งยืน” โดยจีนครองส่วนแบ่งในหมวดหมู่นี้เกือบร้อยละ 40 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

การที่รัฐบาลจีนพยายามสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2006 นำสู่ผลิตภาพทางทรัพยากรที่สูงขึ้นและการแยกการใช้ทรัพยากรออกจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

การบำบัดน้ำดื่มและการรีไซเคิลแบตเตอรีและเซลล์เชื้อเพลิง การรีไซเคิลซีเมนต์ และการรีไซเคิลพลาสติก แก้ว กระดาษ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุปโภคบริโภคถือเป็น “จุดแข็งของจีน”

นอกจากนั้นจีนครองส่วนแบ่งของสิทธิบัตรเทคโนโลยีอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับโลกในด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยการผลิตแบบเครือข่าย (โรงงานอัจฉริยะ) การผลิตทางอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมสิ่งทอ และการเกษตรดิจิทัล มีความความสำคัญอย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.