(ภาพจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน แสดงเครื่องมือหินที่ขุดพบจากแหล่งประวัติศาสตร์เฉินเจียวาน บริเวณลุ่มน้ำหนีเหอวานทางตอนเหนือของจีน)

ปักกิ่ง, 7 มี.ค. (ซินหัว) — ทีมวิจัยนานาชาติที่นำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีน พบว่ามนุษย์โฮมินิน (hominins) ในเอเชียตะวันออกครอบครองเทคโนโลยีเครื่องมือหินขั้นสูงตั้งแต่เมื่อ 1.1 ล้านปีก่อน ซึ่งเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก

ทีมงานนำโดยสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ศึกษาลักษณะเทคโนโลยีเครื่องมือหินที่แหล่งประวัติศาสตร์เฉินเจียวาน ในลุ่มน้ำหนีเหอวานทางตอนเหนือของจีน และพบเทคโนโลยีการกะเทาะหินแกน (prepared core technology) ที่เก่าแก่ที่สุดในยูเรเซีย

ทีมวิจัยทำการวิเคราะห์ทางเทคนิคและการสแกนเครื่องมือหินแบบ 3 มิติที่มีความแม่นยำสูงในพื้นที่ดังกล่าว และศึกษาว่าโฮมินินในแหล่งประวัติศาสตร์เฉินเจียวานผลิตและใช้งานเครื่องมือหินต่างๆ อย่างไร ซึ่งผลลัพธ์เผยว่าเทคโนโลยีการกะเทาะหินแกนปรากฏอยู่แล้วในสถานที่แห่งนี้

เทคนิคการกะเทาะหินแกน เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมอะชูเลียน (Acheulian) ซึ่งเป็นกรรมวิธีการผลิตเครื่องมือแบบมาตรฐานวิธีแรกของโฮโมอีเร็กตัส (Homo erectus) และโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ในยุคแรก โดยทีมวิจัยเชื่อว่ามนุษย์โฮมินินบริเวณแหล่งประวัติศาสตร์เฉินเจียวานมีระดับความรู้ความเข้าใจและความสามารถทางเทคนิคใกล้เคียงกับโฮมินินในยุควัฒนธรรมอะชูเลียน

เผยซู่เหวิน เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ระบุว่าการศึกษานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาวิวัฒนาการและนวัตกรรมของเทคโนโลยียุคหินเก่าตอนต้น โดยแสดงถึงศักยภาพที่สำคัญของลุ่มน้ำหนีเหอวานในด้านการวิจัยการสร้างแบบจำลองการพัฒนาของวิวัฒนาการและพฤติกรรมมนุษย์ในเอเชียตะวันออกเป็นระยะเวลาหลายล้านปี

อนึ่ง การศึกษาข้างต้นเผยแพร่ในวารสารวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (PNAS)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.