(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนเดินบนถนนท่ามกลางหิมะตกในเมืองจ่าวจวง มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 21 ก.พ. 2024)

ปักกิ่ง, 10 มี.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มนักวิจัยของจีนได้สร้างความก้าวหน้าในการปรับปรุงการคาดการณ์หยาดน้ำฟ้าโดยใช้แนวทางล้ำสมัยที่ผสมผสานฟิสิกส์และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

อนึ่ง การศึกษาข้างต้นซึ่งเผยแพร่ในวารสารจีโอฟิสิคัล รีเสิร์ช เลตเทอร์ส (Geophysical Research Letters) จัดทำโดยทีมวิจัยที่นำโดยสถาบันฟิสิกส์บรรยากาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน

การศึกษาระบุว่าในยุคของปัญญาประดิษฐ์ แบบจำลองอุตุนิยมวิทยาและสภาพภูมิอากาศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลล้วนกำลังค่อยๆ ไล่ตามและแซงหน้าแบบจำลองเชิงตัวเลขแบบดั้งเดิม

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญยังคงมีอยู่ในแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสามารถการคาดการณ์สภาพอากาศและปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่ซับซ้อน อาทิ หยาดน้ำฟ้า กลุ่มนักวิจัยจึงได้เสนอแนวทางใหม่ในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานฟิสิกส์ พลวัตบรรยากาศ และแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึก

ทีมวิจัยใช้ประโยชน์จากเอิร์ธแลป (EarthLab) แบบจำลองระบบโลกเชิงตัวเลขวิทยาศาสตร์ใหม่ที่พัฒนาโดยสถาบันฯ ซึ่งอาศัยข้อมูลและพลังการประมวลผลเพื่อยกระดับทักษะการคาดการณ์หยาดน้ำฟ้าของแบบจำลองเชิงตัวเลขนี้ โดยมุ่งไปที่การเชื่อมโยงตัวแปรทางฟิสิกส์ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมแบบกราฟ เพื่อระบุข้อจำกัดทางกายภาพ และปรับปรุงความแม่นยำของการคาดการณ์หยาดน้ำฟ้า

หวงกัง ผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย กล่าวว่าในยุคของปัญญาประดิษฐ์ การบูรณาการฟิสิกส์ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่มาพร้อมแนวทางและมุมมองที่หลากหลาย โดยทีมวิจัยได้ทดลองใช้เงื่อนไขที่ยืดหยุ่นได้กับแบบจำลองจากมุมมองการเชื่อมโยงทางฟิสิกส์ โดยคำนึงถึงพลวัตของบรรยากาศและภูมิอากาศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.