(แฟ้มภาพซินหัว : งานประติมากรรมรูปทรงหมึกยักษ์ทำจากขยะพลาสติกในทะเลที่เมืองเบอร์นาบี รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา วันที่ 23 ก.พ. 2022)

แคนเบอร์รา, 5 เม.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยนานาชาติที่นำโดยมหาวิทยาลัยแอดิเลดของออสเตรเลียค้นพบว่าภาวะเครียดจากความร้อน (heat stress) อันเป็นผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในมหาสมุทร อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของหมึกยักษ์และคุกคามความอยู่รอดของสัตว์ชนิดนี้ เพราะความเครียดดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโปรตีนที่มีความสำคัญต่อการมองเห็น

ผลการวิจัยที่เผยแพร่วันศุกร์ (5 เม.ย.) ระบุว่าโปรตีน 2 ชนิด ซึ่งชนิดแรกช่วยรักษาความโปร่งใสของเลนส์และความชัดของแสง และชนิดสองช่วยสร้างเม็ดสีการมองเห็นในเซลล์รับแสงของดวงตา ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายใต้สภาพมหาสมุทรมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ไว้ บ่งชี้การเกิดความบกพร่องทางการมองเห็นของหมึกยักษ์

อนึ่ง สมองของหมึกยักษ์ราวร้อยละ 70 ใช้กับการมองเห็น ซึ่งมากกว่ามนุษย์ราวร้อยละ 20

เฉียซ ฮวา ผู้นำการเขียนผลการศึกษา เผยว่าหมึกยักษ์ใช้การมองเห็นเพื่อรับรู้ความลึก ตรวจจับการเคลื่อนไหว สื่อสาร รวมถึงตรวจจับนักล่าและเหยื่อ ดังนั้นการเกิดความบกพร่องทางการมองเห็นจะส่งผลกระทบต่อโอกาสรอดชีวิตของหมึกยักษ์ในธรรมชาติ เพราะเพิ่มความเสี่ยงถูกนักล่าจับกิน และลดความสำเร็จของการหาอาหาร

คณะนักวิจัยดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการปล่อยเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนของหมึกยักษ์วงน้ำเงินใต้ (southern keeled octopus) หรือหมึกยักษ์เบอริมา (octopus berrima) ลงน้ำที่มีอุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส 22 องศาเซลเซียส และ 25 องศาเซลเซียส เพื่อจำลองอุณหภูมิมหาสมุทรช่วงฤดูร้อนในปัจจุบัน และอุณหภูมิมหาสมุทรช่วงฤดูร้อนที่น่าจะเป็นในปี 2100

ผลการวิจัยยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในมหาสมุทรอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อลูกหมึกยักษ์ด้วย โดยอัตราการตายภายใต้สภาวะโลกร้อนในอนาคตมีแนวโน้มพุ่งสูง หลังจากการศึกษาลูกหมึกยักษ์ 3 คอก พบว่าไข่ของสองคอกไม่ฟักออกมาเลย และไข่ของคอกที่เหลือฟักออกมาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

ฮวาทิ้งท้ายว่าแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้สูงอย่างหมึกยักษ์ยังมิอาจสามารถอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.