(แฟ้มภาพซินหัว : รถบรรทุกวิ่งออกจากท่าด่านแห่งหนึ่ง บริเวณชานกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา วันที่ 13 ม.ค. 2022)

พนมเปญ, 18 ก.ค. (ซินหัว) — วันอังคาร (18 ก.ค.) กระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา รายงานว่าการส่งออกจากกัมพูชาสู่กลุ่มประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วงครึ่งแรกของปี 2023 (มกราคม-มิถุนายน) รวมอยู่ที่ 4.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.38 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จาก 3.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.12 แสนล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

รายงานระบุว่าจุดหมายส่งออกสามอันดับแรกของกัมพูชาภายใต้ความตกลงฯ ในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามสูงเกือบ 1.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.88 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ไปยังจีนอยู่ที่ 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.43 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และไปยังญี่ปุ่นอยู่ที่ 545 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.86 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1

อนึ่ง ข้อตกลงการค้าเสรีตามความตกลงฯ ประกอบด้วย 15 ประเทศเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิบประเทศสมาชิกอาเซียน และห้าประเทศคู่ค้า (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)

เพ็น โสวิชิต ปลัดและโฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่าความตกลงฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2022 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตด้านการส่งออกที่สำคัญของกัมพูชาในยุคหลังการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

โสวิเชตกล่าวว่าการเติบโตดังกล่าวสะท้อนชัดเจนว่าประเทศสมาชิกความตกลงฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าที่ผลิตในกัมพูชา โดยการส่งออกจากกัมพูชาสู่ประเทศสมาชิกความตกลงฯ จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงฯ ที่กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังกัมพูชา

ทั้งนี้ โสวิเชตทิ้งท้ายว่าความตกลงฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กอปรกับข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีฉบับอื่นๆ จะช่วยกัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2027 และบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2030 ก่อนกลายเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2050

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.