(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนเดินบนท้องถนนในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย วันที่ 24 มิ.ย. 2020)

ซิดนีย์, 6 มี.ค. (ซินหัว) — กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นแห่งออสเตรเลีย พบว่าการใช้เครื่องช่วยฟังอาจช่วยผู้สูงอายุที่มีปัญหาสูญเสียการได้ยิน โดยส่งเสริมการทำงานด้านความคิดความเข้าใจ (cognitive functions) ของสมอง และลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ แบ่งผู้เข้าร่วมมากกว่า 200 คนออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งหมดมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มหนึ่งสูญเสียการได้ยินและใช้เครื่องช่วยฟัง ส่วนอีกกลุ่มไม่สวมเครื่องช่วยฟัง และติดตามพวกเขาเป็นเวลา 3 ปี

ตลอดเวลาดังกล่าว นักวิจัยได้ประเมินศักยภาพด้านความคิดความเข้าใจของผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มโดยใช้เกมไพ่คอมพิวเตอร์ และพบว่ากลุ่มผู้ใช้เครื่องช่วยฟังมีความคิดความเข้าใจในภาพรวมที่ดีหลังผ่านไป 3 ปี ขณะกลุ่มที่ไม่ใช้เครื่องช่วยฟังมีการรู้คิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิจัยกล่าวว่าการสูญเสียการได้ยินเป็นเรื่องปกติของวัยชรา โดยภาวะนี้สัมพันธ์กับศักยภาพการรู้คิดที่ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่สูญเสียการได้ยินและไม่ได้รับการรักษา

ผู้ที่สูญเสียการได้ยินเล็กน้อยมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมมากกว่าผู้ที่ได้ยินตามปกติเกือบสองเท่า ส่วนผู้ที่สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรงมีความเสี่ยงนี้เกือบ 5 เท่า

นักวิจัยพบว่าผู้ที่ต้องการเครื่องช่วยฟังกว่าร้อยละ 70 ไม่ได้เข้ารับการดูแลด้านการได้ยินหรือใช้เครื่องมือเหล่านี้ พร้อมเน้นย้ำว่าการใช้เครื่องช่วยฟังอาจเป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่สำคัญในการชะลอการเสื่อมถอยด้านการรู้คิด เพื่อช่วยลดหรือชะลอภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก

อนึ่ง ผลการวิจัยข้างต้นได้รับการเผยแพร่ในวารสารฟรอนไทเออร์ส อิน นิวโรไซเอนซ์ (Frontiers in Neuroscience)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.