(ภาพจากศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง : ไจ๋จื้อกัง และหวังย่าผิง ทีมนักบินอวกาศจีนโบกมือหลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมนอกยานอวกาศ วันที่ 8 พ.ย. 2021)

ปักกิ่ง, 8 พ.ย. (ซินหัว) — สถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (CAST) เปิดเผยว่ากิจกรรมนอกยานอวกาศ (EVA) ที่นักบินอวกาศจีน 2 คน ปฏิบัติตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ (7 พ.ย.) จนถึงเช้ามืดวันจันทร์ (8 พ.ย.) จะช่วยเพิ่มความสามารถของแขนกลบนสถานีอวกาศของจีน

ไจ๋จื้อกัง และหวังย่าผิง ทีมนักบินอวกาศจีนออกไปนอกโมดูลเทียนเหอ ซึ่งเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศจีนเมื่อวันอาทิตย์ (7 พ.ย.) เวลา 20.28 น. ตามเวลาปักกิ่ง ก่อนจะเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมนอกยานอวกาศและกลับเข้าสู่โมดูลหลักเมื่อวันจันทร์ (8 พ.ย.) เวลา 1.16 น. ตามเวลาปักกิ่ง

นักบินอวกาศทั้งสองคนปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศหลายภารกิจ อาทิ การติดตั้งตัวเชื่อมแขนกล 2 ส่วน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมแขนกลชิ้นใหญ่และชิ้นเล็กเข้าด้วยกัน และอุปกรณ์สำหรับการแขวน

อุปกรณ์ข้างต้นจะช่วยให้สามารถเชื่อมแขนกลชิ้นใหญ่เข้ากับโมดูลเทียนเหอ และเชื่อมแขนกลชิ้นเล็กกับโมดูลเวิ่นเทียน (Wentian) โมดูลห้องปฏิบัติการ ที่คาดว่าจะถูกยิงขึ้นสู่อวกาศในปี 2022 เพื่อเทียบท่ากับโมดูลเทียนเหอ โดยแขนกลที่ถูกเชื่อมต่อนี้จะสามารถเคลื่อนย้ายสัมภาระที่หนักยิ่งขึ้นสำหรับพื้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

เกาเซิง วิศวกรผู้รับผิดชอบงานปฏิบัติการแขนกลจากสถาบันฯ ระบุว่าหลังการเชื่อมต่อ แขนกลชิ้นใหญ่ความยาว 10 เมตร และแขนกลชิ้นเล็กความยาว 5 เมตร จะรวมกันเป็นแขนกลชิ้นเดียวที่มีรัศมีการทำงานเพิ่มแตะ 14.5 เมตร โดยแขนกลที่รวมกันนี้สามารถทำงานครอบคลุมโมดูล 3 แห่งของสถานีอวกาศ เพื่อตรวจสอบพื้นผิวของสถานีได้ตลอดเวลาและปฏิบัติภารกิจที่มีความยากและหลากหลาย

ทั้งนี้ จีนส่งยานอวกาศเสินโจว-13 (Shenzhou-13) ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 16 ต.ค. พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจก่อสร้างสถานีอวกาศในวงโคจรเป็นเวลา 6 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.