(แฟ้มภาพซินหัว : ชายเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแคนส์ ในเมืองแคนส์ รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย วันที่ 1 เม.ย. 2021)

แคนเบอร์รา, 19 ก.พ. (ซินหัว) — ผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ค้นพบว่าดนตรีความถี่สูงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแสนฉลาดอย่าง “โลมา” หลังจากพวกเขาประสบความสำเร็จในการทดลองเล่นดนตรีเพื่อสื่อสารกับโลมาในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ (NSW) โดยอาศัยนักร้อง หรือนักดนตรีเป่าฟลูต ปิคโคโล และเครื่องเป่าลมไม้อินเดียจากดาดฟ้าเรือเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน

คณะนักวิจัยพบว่าโลมาถูกดนตรีดึงดูด และตอบสนองด้วยเสียงร้องของพวกมัน ซึ่งถูกบันทึกด้วยไมโครโฟนใต้น้ำ โดย แซลลี วอล์คเกอร์ นักเป่าฟลูตจากคณะดนตรีของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งร่วมงานแถลงข่าวผลการศึกษาข้างต้นเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ก.พ.) เผยว่าฝูงโลมาปากขวดเข้ามาใกล้เรือภายในไม่กี่นาทีหลังเธอเริ่มการแสดง โลมาตัวหนึ่งว่ายตรงมาอยู่ข้างใต้เรือด้วยความเร็วเท่ากับเรือ และโลมาที่เหลือก็เต้นรอบๆ โลมาตัวดังกล่าว

“ดูเหมือนว่าความถี่สูงและระยะห่างเฉพาะช่วงระหว่างโน้ตจะดึงดูดโลมาเข้ามาและปลุกเร้าพวกมัน โดยพนักงานของเรือ  อิเมจิน (Imagine) กล่าวว่าเห็นโลมาจำนวนมากผิดปกติ ทั้งที่ท่าเรือและทะเล” วอล์คเกอร์กล่าว

โอลีเวีย เดอ เบอร์เกอแรค ผู้เชี่ยวชาญด้านโลมาและผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้ ซึ่งใช้เวลาวิจัยปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลมามานานกว่า 25 ปี ระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับการตอบสนองของโลมาต่อดนตรีสดยังไม่เป็นที่รู้กันมากนัก โลมานั้นอาศัยอยู่ในโลกแห่งเสียง พวกมันสื่อสารดันด้วยการส่งเสียงที่มีลักษณะคล้ายโฮโลแกรม (hologram) ซึ่งสะท้อนอยู่ในมวลเนื้อเยื่อไขมันบนหน้าผากของโลมา ดังนั้นมนุษย์อาจสื่อสารกับโลมาผ่านดนตรีได้

“โลมาเป็นสัตว์ที่ฉลาดมาก พวกมันสามารถรับรู้ความคิด ความรู้สึก สภาพความเป็นอยู่ และส่งเสียงมาถึงพวกเรา” เบอร์เกอแรคกล่าว

ทั้งนี้ คณะวิจัยจะเล่นดนตรีให้โลมาผ่านไมโครโฟนใต้น้ำในลำดับถัดไป เพื่อพิจารณาว่าเสียงใดที่พวกมันเปิดรับได้มากที่สุด และมีปฏิกิริยาแตกต่างจากเสียงดนตรีเหนือน้ำอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.