(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนเที่ยวชมเทศกาลว่าวที่สวนรุกขชาติแห่งชาติแคนเบอร์รา กรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของออสเตรเลีย วันที่ 1 ต.ค. 2023)

แคนเบอร์รา, 5 ต.ค. (ซินหัว) — วันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานการศึกษาสุขภาพจิตและความเป็นอยู่แห่งชาติ เปิดเผยว่าชาวออสเตรเลียทุกๆ 2 ใน 5 คน ประสบกับความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ (mental disorder) โดยชาวออสเตรเลียที่มีอายุ 16-85 ปี ร้อยละ 42.9 หรือคิดเป็น 8.5 ล้านคน มีภาวะเกี่ยวกับสุขภาพจิต 1 อาการตลอดชีวิตของพวกเขา

การสำรวจผู้คนเกือบ 16,000 คนระหว่างปี 2020-2022 พบว่าร้อยละ 21.5 ประสบกับความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ในช่วง 12 เดือนก่อน และในบรรดาผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุ 16-24 ปี พบว่าร้อยละ 38.8 ประสบกับความผิดปกติดังกล่าวในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจเช่นกัน

ลินดา ฟาร์เดลล์ หัวหน้าฝ่ายสถิติด้านสุขภาพประจำสำนักงานฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่าคนรุ่นใหม่เพศหญิงเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 45.5) และคนรุ่นใหม่เพศชายหนึ่งในสาม (ร้อยละ 32.4) ที่มีอายุ 16-24 ปี มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเป็นโรควิตกกังวลมากที่สุด

ลินดาเผยว่าความวิตกกังวลเป็นกลุ่มโรคความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ที่พบได้ทั่วไปมากที่สุดในปี 2020-2022 โดยชาวออสเตรเลียกว่าหนึ่งในหก (ร้อยละ 17.2) เคยเป็นโรควิตกกังกล อาทิ โรคกลัวการเข้าสังคม โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ในช่วง 12 เดือนก่อน ขณะผู้คนร้อยละ 7.5 เป็นโรคอารมณ์แปรปรวน อาทิ โรคซึมเศร้า ส่วนร้อยละ 3.3 เคยมีความผิดปกติในการใช้สารเสพติด

องค์การอนามัยโลก (WHO) นิยามความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ไว้ว่าเป็นภาวะด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรบกวนการรับรู้ พฤติกรรม และการควบคุมอารมณ์ของบุคคล และคาดว่าประชาชน 970 ล้านคนทั่วโลกเคยอยู่ร่วมกับโรคนี้ในปี 2019

นอกจากนั้น สำนักงานฯ พบว่าชาวออสเตรเลียร้อยละ 45.1 ที่มีความผิดปกติในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจสำหรับรายงานฉบับข้างต้น ได้เข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยเพศหญิงมีแนวโน้มเข้ารับคำปรึกษามากกว่าเพศชาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.