(แฟ้มภาพซินหัว : ดวงจันทร์ที่มองจากหอชมวิวรปปงงิ ฮิลส์ โมริ ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น วันที่ 8 พ.ย. 2022)

โตเกียว, 29 ม.ค. (ซินหัว) — วันจันทร์ (29 ม.ค.) องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นรายงานว่ายานสำรวจดวงจันทร์ของญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ปิดการทำงานหลังลงจอดบนดวงจันทร์เพราะแผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ ได้เริ่มต้นเดินเครื่องทำงานแล้ว

รายงานระบุว่าปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์ของยานลงจอดอัจฉริยะเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ (SLIM) มีแนวโน้มกลับมาทำงานตามปกติแล้ว ทำให้มีการติดต่อสื่อสารกับยานลงจอดดังกล่าวสำเร็จตั้งแต่กลางคืนวันอาทิตย์ (28 ม.ค.) ที่ผ่านมา

ยานลงจอดฯ กลับมาทำงานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ โดยการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์เริ่มต้นด้วยกล้องบันทึกภาพแบบหลายความถี่ (Multi-Band Camera) และองค์การฯ ได้โพสต์ภาพถ่ายก้อนหินชื่อ “ทอย พุดเดิล” (toy poodle) ที่อยู่ใกล้ยานลงจอดฯ

อนึ่ง ยานลงจอดฯ ลงจอดบนดวงจันทร์ ตอน 00.20 น. ของวันที่ 20 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ แต่ยานลงจอดฯ ต้องปิดการทำงาน ตอน 02:57 น. ของวันที่ 22 ม.ค. หลังทำงานด้วยแบตเตอรี่สำรองเพราะแผงโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้า

ยานลงจอดฯ เป็นยานสำรวจขนาดเล็ก มีความสูงราว 2.4 เมตร และน้ำหนักราว 200 กิโลกรัม (ไม่รวมเชื้อเพลิง) ถูกออกแบบมาทดสอบเทคโนโลยีลงจอดแบบกำหนดตำแหน่งแน่นอนบนพื้นผิวที่มีแรงโน้มถ่วงโดยคลาดเคลื่อนจากตำแหน่งเป้าหมายไม่เกิน 100 เมตร ซึ่งแตกต่างจากยานลงจอดแบบเดิมที่มักมีระยะคลาดเคลื่อนหลายกิโลเมตร

ญี่ปุ่นปล่อยจรวดขนส่งยานลงจอดฯ จากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสู่ห้วงอวกาศ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2023 ซึ่งนับเป็นความพยายามลงจอดบนดวงจันทร์ ครั้งที่ 3 ของญี่ปุ่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.