(แฟ้มภาพซินหัว : ป้ายเตือนที่ชายหาดสึริชิฮามะ เมืองชินจิ จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น วันที่ 22 ส.ค. 2023)

โตเกียว, 19 เม.ย. (ซินหัว) — วันศุกร์ (19 เม.ย.) ญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ สู่มหาสมุทรแปซิฟิก รอบที่ 5 โดยโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือเทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าฯ เริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีในช่วงเช้า ซึ่งเป็นรอบแรกของปีงบประมาณ 2024 ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากชาวประมงและผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น รวมถึงประชาคมนานาชาติ

การปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์รอบนี้เหมือนกับสี่รอบก่อนหน้า โดยน้ำเสียรอบนี้มีปริมาณราว 7,800 ตัน ยังคงปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีทริเทียม (Tritium) และจะปล่อยเสร็จสิ้นวันที่ 7 พ.ค. ขณะเทปโกได้วิเคราะห์น้ำที่เก็บไว้ในถังรอปล่อยและพบความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีทั้งหมด ยกเว้นทริเทียม อยู่ต่ำกว่ามาตรฐานการปล่อยน้ำเสียระดับชาติ ส่วนความเข้มข้นของทริเทียมที่ไม่สามารถกำจัดได้จะถูกเจือจางด้วยน้ำทะเล

รายงานเสริมว่าเทปโกจะวัดความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีต่างๆ เช่น ทริเทียม ในน่านน้ำโดยรอบทุกวัน เพื่อตรวจสอบผลกระทบของการปล่อยน้ำเสียเหล่านี้

อนึ่ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 และการปล่อยสี่รอบแรกในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม มีปริมาณรวมราว 31,200 ตัน

สำหรับปีงบประมาณ 2024 เทปโกวางแผนปล่อยน้ำปนเปื้อน 7 รอบ ปริมาณรวม 54,600 ตัน ซึ่งมีทริเทียมอยู่ราว 14 ล้านล้านเบ็กเคอเรล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.