(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานขนย้ายสินค้าที่บริษัท สไวร์ โคคา-โคลา เบเวอร์เรจ หูเป่ย ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 24 มี.ค. 2020)

แคนเบอร์รา, 26 เม.ย. (ซินหัว) — การวิจัยระดับนานาชาติพบว่ามลพิษพลาสติกจากแบรนด์สินค้าที่พบอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่ง มาจากบริษัทเพียง 56 แห่ง

การศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) จากองค์กรระหว่างประเทศ 12 แห่ง รวมถึงองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลีย ได้เผยข้อมูลตรวจวัดการมีส่วนรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติกเป็นครั้งแรก

รายงานระบุว่าข้อมูลจากโครงการสังเกตการณ์ขยะพลาสติกระยะเวลา 5 ปีใน 84 ประเทศ พบว่าบริษัท 56 แห่งมีส่วนทำให้เกิดมลพิษพลาสติกจากแบรนด์สินค้ามากกว่าครึ่งหนึ่ง และมีบริษัท 13 แห่งที่มีส่วนทำให้เกิดมลพิษเหล่านี้กว่าร้อยละ 1

การศึกษาพบว่าบริษัท โคคา-โคลา (Coca-Cola) เป็นผู้ผลิตมลพิษจากพลาสติกมากที่สุดในโลก ครองสัดส่วนร้อยละ 11 ของพลาสติกจากแบรนด์สินค้าทั้งหมดทั่วโลก ตามมาด้วยเป๊ปซี่โค (PepsiCo) ร้อยละ 5 เนสท์เล่ (Nestle) และดานอน (Danone) บริษัทอาหารสัญชาติฝรั่งเศส แห่งละร้อยละ 3 ส่วนบริษัทอีก 13 แห่งที่มีส่วนทำให้เกิดมลพิษพลาสติกอย่างน้อยร้อยละ 1 เป็นกลุ่มผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ

วันศุกร์ (26 เม.ย.) แคธี่ วิลลิส นักวิจัยจากองค์การฯ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ว่ามีผลิตภัณฑ์พลาสติกอะไรบ้างที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม และตอกย้ำความสำคัญของวิธีการจัดการกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

วิลลิสเสริมว่าวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวครอบคลุมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อที่จะช่วยลดความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ทั่วโลก และเพิ่มความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ ความสามารถในการซ่อมแซม และความสามารถในการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่

หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว การวิจัยพบว่าปริมาณมลพิษพลาสติกจากแบรนด์สินค้าและที่ไม่มีแบรนด์สินค้าในสภาพแวดล้อม แบ่งออกเป็นสัดส่วน 50-50

วิลลิสเรียกร้องการกำหนดมาตรฐานสากลในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์สินค้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับไปยังบริษัทเจ้าของแบรนด์และภาระรับผิดชอบต่อการก่อมลพิษพลาสติก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.