ปักกิ่ง, 15 ก.พ. (ซินหัว) — สำนักบริหารพลังงานแห่งชาติของจีน (NEA) เปิดเผยว่าแหล่งกักเก็บพลังงานชนิดใหม่กำลังกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญของจีนในการสร้างระบบพลังงานและไฟฟ้าแบบใหม่ ตลอดจนเป็นหนทางสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสีเขียวและคาร์บอนต่ำของการผลิตพลังงานและการบริโภค

นับตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) กำลังผลิตจากแหล่งกักเก็บพลังงานชนิดใหม่ที่มีการติดตั้งเพิ่มเติมในจีน ได้เอื้อต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจโดยตรง โดยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านหยวน (ราว 5 ล้านล้านบาท) ช่วยต่อยอดการขยายตัวของห่วงโซ่อุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ

เมื่อนับถึงสิ้นปี 2023 กำลังของแหล่งกักเก็บพลังงานชนิดใหม่ติดตั้งในจีนสะสมอยู่ที่ 31.39 กิกะวัตต์ โดยมีระยะการกักเก็บพลังงานเฉลี่ย 2.1 ชั่วโมง และหากนับเฉพาะปี 2023 กำลังของแหล่งกักเก็บพลังงานชนิดใหม่อยู่ที่ 22.6 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 260 เมื่อเทียบปีต่อปี และคิดเป็นเกือบ 10 เท่าของสิ้นปี 2020

ปี 2023 สำนักบริหารฯ ได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดไฟฟ้าแบบครบวงจรระดับชาติอย่างแข็งขัน โดยมีธุรกรรมในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ไฟฟ้าที่ซื้อขายผ่านตลาดระดับชาติคิดเป็นร้อยละ 61.4 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของจีน เพิ่มขึ้น 0.6 จุดจากปีก่อนหน้า

พานฮุ่ยหมิ่น เจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารฯ ระบุว่าปี 2023 จีนมีบทบาทถึงกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกซึ่งมีปริมาณ 510 กิกะวัตต์ ส่งผลให้จีนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาพลังงานสะอาดทั่วโลก

นอกจากนี้จีนได้ส่งออกพลังงานลมและผลิตภัณฑ์เซลล์แสงอาทิตย์ปยังประเทศและภูมิภาคต่างๆ กว่า 200 แห่งทั่วโลก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสะสมมากกว่า 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.19 ล้านล้านบาท) และ 2.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.71 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ

(เรียบเรียงโดย Yu Huichen จาก Xinhua Silk Road, https://en.imsilkroad.com/p/338626.html)