นักวิทย์อิสราเอลอาจพบวิธีเพิ่ม ‘ฮอร์โมนความรัก’ ในสมอง

25

เยรูซาเลม, 29 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.) คณะนักวิทยาศาสตร์อิสราเอลแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ไวส์มันน์ (WIS) เปิดเผยการค้นพบวิธีการจัดเก็บและเพิ่มจำนวนออกซิโตซิน (oxytocin) หรือ “ฮอร์โมนความรัก” ในสมอง

ออกซิโตซินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกจากสมองเมื่อเกิดอารมณ์ความรู้สึกรักชอบผูกพันหรือมีความสุขสมหวัง เช่น เวลาพ่อแม่ได้จ้องมองทารกแรกเกิดหรือคู่รักที่ส่งสายตาหวานซึ้งให้แก่กัน

นอกจากนั้นออกซิโตซินไม่เพียงเป็นฮอร์โมนแห่งความรักเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญยามมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ให้กำเนิด และให้นมลูก รวมถึงช่วยควบคุมความเครียด ความอยากอาหาร และอื่นๆ อีกด้วย

งานวิจัยจากดับบลิวไอเอส ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารอีไลฟ์ (eLife) ระบุว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าออกซิโตซินถูกจัดเก็บไว้ในต่อมใต้สมองที่เปรียบเสมือนสถานีแจกจ่ายออกซิโตซินเข้าสู่กระแสเลือด

คณะนักวิจัยทำการศึกษาสมองของปลาม้าลายตัวใสขนาดเล็ก ซึ่งมีการจัดเก็บฮอร์โมนดังกล่าวเหมือนกับมนุษย์ คืออยู่ในแคปซูลไขมันพิเศษหรือถุงน้ำ (vesicle) และย้ายไปยังต่อมที่เรียกว่าจุดประสานประสาทหรือซิแนปส์ (synapse)

ขณะเดียวกันออกซิโตซินที่อยู่ในสภาวะเค็มจะถูกปล่อยออกจากถุงน้ำหรือเวสิเคิลในจุดประสานประสาทอย่างรวดเร็ว และกลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งหลังจากสภาวะเค็มนั้นถูกกำจัดออกไปจนหมด

ส่วนการทดลองอื่นๆ คณะนักวิจัยค้นพบโมเลกุลบางตัวที่ส่งผลกระทบต่อการสร้างถุงน้ำ ซึ่งหมายความว่าโมเลกุลเหล่านั้นมีบทบาทต่อการผลิตออกซิโตซินขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน

“เนื่องจากมีตัวบ่งชี้ว่าความผิดปกติจากการทำปฏิกิริยาหรือขาดแคลนฮอร์โมนออกซิโตซิน มีความเกี่ยวพันกับภาวะออทิสติก ดังนั้นการค้นพบเหล่านี้อาจปูทางใหม่ๆ สู่การวิจัยความผิดปกตินี้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.