25 views

อุรุมชี, 4 มี.ค. (ซินหัว) — งานขุดเจาะหลุมลึกพิเศษบริเวณแอ่งทาริม ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน แตะระดับความลึก 10,000 เมตรแล้ว ตอน 14.48 น. ของวันจันทร์ (4 มี.ค.) และกำลังถูกขุดลึกลงไปเรื่อยๆ โดยถือเป็นความก้าวหน้าในภารกิจการสำรวจโลกใต้พิภพของจีน

“เซินตี้ถ่าเคอ 1” ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของทะเลทรายทากลามากันในแอ่งทาริม คาดว่าจะมีความลึกออกแบบ 11,100 เมตรเมื่อแล้วเสร็จ นับเป็นหลุมเจาะสำรวจทางวิทยาศาสตร์แห่งแรกของจีนที่ออกแบบมาให้มีความลึกเกิน 10,000 เมตร

งานขุดเจาะดังกล่าวเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2023 ซึ่งตั้งแต่นั้นมีการเจาะทะลุผ่านชั้นหินภาคพื้นทวีป 13 ชั้น ขณะท่อเจาะมากกว่า 1,000 ท่อถูกดันลงสู่พื้นโลก และมีการใช้หัวเจาะมากกว่า 20 ชุดในกระบวนการนี้

หวังชุนเซิง หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญประจำบ่อน้ำมันทาริม สังกัดบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (CNPC) ระบุว่านี่เป็นครั้งแรกที่จีนเจาะหลุมแนวตั้งลึกกว่า 10,000 เมตร

อนึ่ง แอ่งทาริมตั้งอยู่ระหว่างภูเขาเทียนซานและคุนหลุน จัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากที่สุดสำหรับการสำรวจเนื่องจากสภาพแวดล้อมพื้นดินอันทุรกันดารและสภาพใต้ดินที่ซับซ้อน

หวังกล่าวว่าการขุดเจาะจะเผชิญความท้าทายที่รุนแรงขึ้นหลังจากแตะระดับลึก 10,000 เมตรไปแล้ว เช่น อุณหภูมิที่สูงกว่า 200 องศาเซลเซียส และความดันในชั้นหินกว่า 130 เมกะปาสคาล ซึ่งความยากลำบากจะเพิ่มขึ้นตามความลึกแต่ละเมตรที่เจาะลงไป

ปัจจุบันการขุดเจาะหลุมแนวตั้งที่ลึกที่สุดในโลกมีความลึกมากกว่า 12,262 เมตร โดยเจี่ยเฉิงจ้าว นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า “เซินตี้ถ่าเคอ 1” ได้กลายเป็นหลุมแนวตั้งที่ลึกเป็นอันดับสองของโลกและลึกที่สุดในเอเชีย และถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่งในด้านการวิจัยดินแดนใต้พิภพ รวมถึงการสำรวจน้ำมันและก๊าซที่ระดับความลึกพิเศษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.