13 views

ฉงชิ่ง, 22 มี.ค. (ซินหัว) — “ความสอดประสานของการอยู่ร่วมกัน – นิทรรศการศิลปะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (“Symphony of Coexistence – Chinese and Southeast Asian Art Invitational Exhibition”) เป็นชื่อของนิทรรศการศิลปะซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลป์แห่งสถาบันวิจิตรศิลป์ซื่อชวน (เสฉวน) ในเทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา และเป็นเวทีที่ทำให้ผลงานของศิลปินชาวไทยได้เฉิดฉายในจีน

หนึ่งในนั้นคือ “กวางสยามตัวสุดท้าย” ผลงานของสาครินทร์ เครืออ่อน เมื่อเดินเข้าสู่นิทรรศการจะเห็นหัวกวางตั้งอยู่บนโต๊ะคลาสสิค กำแพงด้านข้างเป็นภาพวาดทิวทัศน์ประเทศไทย ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นวิดีโอสัมภาษณ์เกี่ยวกับตำนานกวางสยาม อันเป็นการนำเสนอประวัติศาสตร์ของไทยผ่านวิธีการทางศิลปะ

งานนี้จัดแสดงผลงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ของศิลปินชาวจีน ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอื่นๆ รวม 41 คน เป็นจำนวนเกือบ 100 ชิ้นงาน อาทิ ภาพวาดสีน้ำมัน การพิมพ์ 3 มิติ สื่อบูรณาการ วิดีโอ 4K ที่ถูกนำเสนออย่างน่าสนใจ ผ่านแรงบันดาลใจที่สะท้อนสุนทรียศาสตร์ทางศิลปะซึ่งหลอมรวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงหลายคนได้นำผลงานเด่นมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ อย่างผลงาน “ภูเก็ต 2016” ของอเล็กซ์ เฟซ (Alex Face) ศิลปินกราฟฟิตีผู้สร้างหุ่นจำลอง “มาร์ดี” (Mardi) เด็กน้อย 3 ตากับชุดมาสคอตกระต่าย โดยใช้รูปแบบของศิลปะสัจนิยมในการสะท้อนถึงปัญหาทางสังคมของไทย นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพพิมพ์อิงค์เจ็ท “ท้องนา” ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล พื้นที่ทุรกันดารในความมืดมิด กับกองไฟส่องสว่าง และท้องฟ้ายามค่ำคืนอันเงียบสงบ ทำให้ภาพมีมิติอย่างมาก ตลอดจนผลงาน “มีสติ” (stay sane) ของก้องกาน หรือ กันตภณ เมธีกุล ที่สื่อสารถึงความปรารถนาโลกที่มีความสุข และน่าพึงใจของผู้คน

(แฟ้มภาพซินหัว : ผลงาน “ศูนย์การเงินแห่งชาติในอุดมคติ” ของเจียวซิ่งเทา ศิลปินชาวจีน จัดแสดงในนิทรรศการความสอดประสานของการอยู่ร่วมกัน – นิทรรศการศิลปะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

เหอกุ้ยเยี่ยน หนึ่งในผู้ดูแลนิทรรศการ และผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ กล่าวว่านิทรรศการครั้งนี้มีทั้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม นวัตกรรมทางศิลปะ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทั้งแสดงถึงความหลากหลายของผลงาน และสื่อความหมายของโลกที่ความหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกัน อันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมมนุษย์ที่ปรองดอง ผู้คนสามารถก้าวข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมด้วยพลังแห่งศิลปะ

อภินันท์ โปษยานนท์ ที่ปรึกษาของนิทรรศการ ซีอีโอและผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล กล่าวว่าแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งเอเชียและทั่วโลก นอกจากด้านเศรษฐกิจและการค้าก็ยังมีด้านวัฒนธรรม นิทรรศการนี้สร้างเวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ทั้งสองฝ่ายได้การเรียนรู้อารยธรรมร่วมกัน ซึ่งตนก็สนใจในผลงานของศิลปินชาวจีนเช่นกัน เช่น “ค่ำคืนอันเงียบงัน” ของผางเม่าคุน ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นจากฉากบนท้องถนนยามค่ำคืนระหว่างทางกลับบ้านของเขาจากที่ทำงานในทุกวัน แสดงว่าศิลปินกำลัง “ครุ่นคิดถึงช่วงเวลาอันสงบสุขในยามวิกาล” และผลงาน “ศูนย์การเงินแห่งชาติในอุดมคติ” ของเจียวซิ่งเทา ที่ได้ประกอบหุ่นจำลองไฟเบอร์กลาสที่เหลือจากโรงงานขึ้นมาใหม่ และเมื่อประกอบรวมกับลูกบอลชายหาด และผนังสีชมพู จึงกลายเป็น “สรวงสวรรค์ในอุดมคติ” ของคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ รายงานระบุว่านิทรรศการดังกล่าวจะจัดจนถึงวันที่ 5 พ.ค. นับเป็นหนึ่งในโครงการเชิงวิชาการที่สำคัญของ “ปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-อาเซียน” ประจำปี 2024 และจัดพร้อมกับการสัมมนาวิชาการ ซึ่งมีนักวิชาการจากนานาประเทศมาหารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน

(แฟ้มภาพซินหัว : ผลงาน “มีสติ” ของก้องกาน ศิลปินชาวไทย จัดแสดงในนิทรรศการความสอดประสานของการอยู่ร่วมกัน – นิทรรศการศิลปะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.