หนานหนิง, 21 ก.ย. (ซินหัว) — ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย กล่าวในพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo หรือ CAEXPO) ครั้งที่ 20 และการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนจีน-อาเซียน ที่จัดขึ้นในนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน โดยระบุว่างานมหกรรมนี้ หรือ “ช่องทางหนานหนิง” (Nanning Channel) ได้กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ๆ แก่บริษัทส่งออกของไทย ทำให้ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับจีนในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

มหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียนปีนี้ มีบริษัทส่งออกจากไทยเข้าร่วม 76 แห่ง โดยพาวิลเลียนของไทยมุ่งจัดแสดงผลิตภัณฑ์พิเศษ 4 ประเภท ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องประดับ สุขภาพและความงาม และ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ทั้งนี้ ยังมีการนำเสนอจังหวัดจันทบุรี ในฐานะจังหวัดแห่งมนต์เสน่ห์ของไทย เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของไทยให้โลกได้รับรู้ ณ งานมหกรรมนี้เป็นครั้งแรก

เมื่อเข้าชมพาวิลเลียนไทยจะพบพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการข้าวหอมมะลิของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของไทย ในกลางวันกลิ่นหอมของอาหารไทยเชื้อเชิญผู้เข้าชมงานให้มาลิ้มลอง หลังโซนจัดแสดงของพาวิลเลียนไทยได้แนะนำข้าวหอมมะลิคู่กับแกงสูตรพิเศษของไทย ด้านขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ระบุว่าปีนี้เป็นครั้งแรกที่ตนได้มาร่วมงาน และได้สัมผัสถึงความนิยมชมชอบข้าวหอมมะลิไทยที่เพิ่มขึ้นในหมู่ชาวจีน

ขวัญนภาระบุว่าการค้าข้าวระหว่างจีนไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน หลายปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ข้าวหอมมะลิไทย และส่งเสริมความนิยมของข้าวหอมมะลิไทยผ่านงานมหกรรมนี้ โดยระหว่างออกงาน มีบริษัทนำเข้าจากจีนจำนวนมากที่เข้ามาพูดคุยและหวังว่าจะได้ร่วมมือกัน ซึ่งการบริโภคของชาวจีนที่ยกระดับขึ้นนั้น จะทำให้สินค้าคุณภาพสูงของไทยมีตลาดกว้างขึ้นกว่าเดิม

การจัดมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียนต่อเนื่องยาวนาน 20 ปี ความร่วมมือในแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่พัฒนาต่อเนื่อง และการบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้หลายปีมานี้ การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ คนจีนเริ่มสนใจอาหารไทยมากขึ้น ตั้งแต่เข้าร้านอาหารไทย ไปจนถึงซื้อวัตถุดิบและเครื่องปรุงมาทำเองที่บ้าน อาหารไทยเริ่มกลายเป็นเมนูประจำที่พบได้บ่อยครั้งบนโต๊ะอาหารชาวจีน

บูธขายเครื่องปรุงรสไทยในงานนี้ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเช่นกัน นันทวัฒน์ สมคม ผู้จำหน่ายเครื่องปรุงไทยระบุว่าเมื่อปี 2006 เขาได้เข้าร่วมงานมหกรรมฯ และนำเครื่องปรุงรสจากไทยมาจัดแสดงเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจ และได้คู่ค้าชาวจีนจากมณฑลจี๋หลินที่ต้องการสินค้าไปเพิ่มรสชาติความเป็นไทยให้กับร้านอาหารทะเลของตน ในงานปีนี้ นันทวัฒน์ได้เพิ่มความหลากหลายของเครื่องปรุงอาหารไทย และหวังว่าสินค้าของเขาจะมอบรสชาติใหม่ๆ ให้กับเมนูอาหารของชาวจีนจำนวนมากขึ้น

ด้านจางหย่งเทา ตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรุงรสโลโบของไทยในจีน ซึ่งมาร่วมงานนี้เกือบทุกปี กล่าวว่าเครื่องปรุงรสของไทยมีกระแสตอบรับดีมาก โดยเครื่องปรุงรสต้มยำกุ้งจำหน่ายหมดตั้งแต่วันแรกที่จัดงาน และในเวลา 1 ปี เครื่องปรุงรสต้มยำกุ้งของโลโบผลิตขายในจีนไปแล้วกว่า 1,000 ตัน ซึ่งโอกาสเช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างจีนกับไทย

ปิ่นนภา ช่อเขียว หนึ่งผู้จัดแสดงสินค้าซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวตังของไทย ระบุว่าจีนเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน งานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ และงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน สร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ทั้งผู้แสดงสินค้า ผู้ซื้อ ตัวแทน หน่วยงานภาครัฐ และอื่นๆ

เธอกล่าวว่าข้าวตังของไทยมีความกรอบ แต่ไม่แข็ง มีกลิ่นหอมของข้าว อีกทั้งยังมีหลายรสชาติ อาทิ ต้มยำกุ้ง และบาร์บีคิว ทำให้หลายคนที่ได้ลิ้มลองก็ต่างติดใจและซื้อกลับไป ตัวแทนจำหน่ายรายอื่นๆ ก็มาติดต่ออยากร่วมมือด้วย ปิ่นนภาระบุว่าตลาดขนาดใหญ่ของขนมกรุบกรอบนั้นแข่งขันดุเดือด ผลิตภัณฑ์ที่ขายจึงต้องมีคุณภาพสูง และต้องมีวิธีส่งเสริมการขายที่ชาญฉลาด นอกจากขายตามหน้าร้านแล้ว ต้องมีการไลฟ์สดขายผ่านออนไลน์ ส่งให้คนดังในอินเทอร์เน็ตชิม และรวมถึงทำวิดีโอสั้นเพื่อโปรโมตด้วย

หวงอิง หนึ่งในผู้แสดงสินค้ากล่าวว่าผลไม้ เครื่องสำอาง อาหาร ยา และสินค้าอื่นๆ ของไทยมีคุณภาพดี และลายเป็นของใช้ติดบ้านของชาวจีนมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ ในห้องครัวมีข้าวหอมมะลิและเครื่องแกงต้มยำกุ้ง ในห้องนอนมีหมอนยางพารา และผลิตภัณฑ์เสริมความงามและครีมกันแดดจากไทย ซึ่งสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ตลาดจีนผ่านงานมหกรรมฯ ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วจีน

ภรภัทร พันธุ์งอก ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการจีน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ของไทยกล่าวว่างานมหกรรมนี้ ทำให้ไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไทยเข้าใจอุปสงค์ของตลาดจีนมากขึ้น โดยหากนับตั้งแต่เริ่มจัดครั้งแรก มีบูธจัดแสดงสินค้าไทยเข้าร่วมงานมหกรรมนี้แล้ว 3,072 บูธ มีบริษัทเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 2,121 ราย และมีปริมาณธุรกรรมรวม 2.5 พันล้านบาท

เหลยเสี่ยวหัว นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์กว่างสี เชื่อว่างานมหกรรมครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการค้า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนจีนและอาเซียน และมีบทบาทสำคัญยิ่งยวดในความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างจีนและไทยในสาขาต่างๆ

(แฟ้มภาพซินหัว : บรรยากาศในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่จัดแสดงหมอนยางพาราของไทยในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้เข้าร่วมงานต่อแถวชิมอาหารไทยในพื้นที่จัดแสดงข้าวหอมมะลิไทย ในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ข้าวตังไทยในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่จัดแสดงของไทยในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)
(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่จัดแสดงของไทยในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : นันทวัฒน์ สมคม กำลังแนะนำเครื่องปรุงรสของไทยให้กับผู้ซื้อในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พื้นที่จัดแสดงข้าวหอมมะลิไทยในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

 

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนกำลังเลือกเครื่องปรุงรสของไทยในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.