รถไฟความเร็วสูงของจีน หรือที่เรียกกันว่ารถไฟหัวกระสุน คือรถไฟที่วิ่งทะยานด้วยความเร็วสูงสุดที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทุกๆ วัน รถไฟหัวกระสุนจำนวนกว่า 2,800 คู่ (ไป-กลับ) ซึ่งแบ่งออกเป็นรหัส G D หรือ C ช่วยเชื่อมต่อเมืองในจีนกว่า 550 เมือง ครอบคลุม 33 มณฑลจากทั้งหมด 34 มณฑลในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สองมหานครยักษ์ใหญ่อย่างกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งห่างกันถึง 1,318 กิโลเมตร ด้วยเวลาเพียง 4.5 ชั่วโมง

จนถึงปี 2019 ที่ผ่านมา เครือข่ายรถไฟความเร็วสูง (HSR) ของจีนยังคงครองตำแหน่งทางรถไฟที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความยาวรวมถึง 35,000 กิโลเมตร โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-ฮ่องกง ระยะทาง 2,440 กิโลเมตรของจีน ยังมีดีกรีเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลกอีกด้วย

เมื่อสิ้นปี 2018 ทางรถไฟของจีนมีระยะทางรวมประมาณ 132,000 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นจากในอดีตถึง 5 เท่า ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 29,000 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุดในโลก

ต่อมาในปี 2019 ประเทศจีนได้สร้างทางรถไฟความเร็วสูงเพิ่มอีกกว่า 5,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อจุดหมายปลายทางเพิ่มขึ้นจนมีความยาวรวม 35,000 กิโลเมตร และยังคงรักษาสถิติสูงสุดของโลกไว้ได้ (ครองสัดส่วนร้อยละ 70 ของความยาวทางรถไฟความเร็วสูงในทั่วโลก)

และในปีนี้ จีนมีแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ๆ อีกเป็นระยะทาง 2,000 กิโลเมตร เพื่อเติมเต็มเครือข่ายรางม้าเหล็กให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อสิ้นปี 2017 จีนได้บรรลุเป้าหมายการเปิดใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ‘ตั้ง 4 ขวาง 4’ ของประเทศ ครองตำแหน่งเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก ด้วยความยาวรวม 25,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของความยาวทางรถไฟความเร็วสูงของโลก จีนวางแผนขยายเครือข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงให้เป็น ‘ขวาง 8 ตั้ง 8’ โดยต่อยอดจากเส้นทางเดิมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเชื่อมเมืองที่ยังไม่มีทางรถไฟและปรับปรุงเส้นทางรถไฟทั่วไป

ด้วยความเร็ว 250-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟเร็วสูงของจีนย่นเวลาการเดินทางลงอย่างมาก อีกทั้งความสะดวกสบาย ปลอดภัย และตรงต่อเวลา ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้มาใช้บริการ

ในประเทศจีน มหานครหลายแห่งถูกเชื่อมไว้ด้วยกันด้วยรถไฟความเร็วสูง ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซีอัน กุ้ยหลิน เฉิงตู ฉงชิ่ง ฮ่องกง หางโจว กว่างโจว เซินเจิ้น คุนหมิง กุ้ยหยาง ฯลฯ และนอกเหนือจากเมืองใหญ่เหล่านี้ ผู้คนยังสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอีกกว่าร้อยแห่งด้วยรถไฟความเร็วสูงได้เช่นกัน

 

แผนที่รถไฟความเร็วสูงของจีน

(แผนที่เส้นทางการเดินรถของรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน (ปรับปรุงเนื้อหาเมื่อเดือนธันวาคม 2019))

เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงแดนมังกร

เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยระยะทางรวม 35,000 กิโลเมตร และมีศักยภาพรองรับรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบัน หลักๆ แล้วประกอบด้วยเส้นทางการเดินรถสายหลักตามแนวเหนือ-ใต้จำนวน 4 เส้นทาง และแนวตะวันออก-ตะวันตก 4 เส้นทาง

แผนงานระยะยาวระบุว่าภายในปี 2030 เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนจะขยายไปสู่ทางรถไฟแนวเหนือ-ใต้ 8 เส้นทาง และแนวตะวันออก-ตะวันตก อีก 8 เส้นทาง

 

สายเหนือ-ใต้

ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้

ระยะทาง : ราว 1,318 กิโลเมตร

สถานีหลัก : ปักกิ่ง (ใต้), เทียนจิน (ใต้), จี่หนาน (ตะวันตก), สวีโจว (ตะวันออก), หนานจิง (ใต้), เซี่ยงไฮ้ หงเฉียว

ระยะเวลา : 5-6 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : เป็นหนึ่งในเส้นทางที่ ‘คึกคัก’ ที่สุดในเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีน ดำเนินงานครบรอบ 6 ปีเมื่อ 30 มิ.ย. 2017 ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 630 ล้านคน โดยเส้นทางนี้ยังแตกออกเป็นเส้นทางสายย่อยอีก 2 เส้นทางได้แก่หนานจิง-หางโจว และ เปิ้งปู้-เหอเฝย-หางโจว

ปักกิ่ง-ฮาร์บิน

ระยะทาง : 1,300 กิโลเมตร

สถานีหลัก : ปักกิ่ง ซิงหั่ว, เฉิงเต๋อ (ใต้), เฉาหยาง (เหนือ), ฟู่ซิน, เสิ่นหยาง, เสิ่นหยาง (เหนือ), เถี่ยหลิง (ตะวันตก), ซื่อผิง (ตะวันออก), ฉางชุน (ตะวันตก), ฮาร์บิน (ตะวันตก), ต้าเหลียน, ผู่วาน, อันซาน, จี๋หลิน, ซวงจี๋, อิ๋งโข่ว (ตะวันออก)

ระยะเวลา : 7 ชั่วโมง ระหว่างปักกิ่ง-ฮาร์บิน และ 3.5-4.5 ชั่วโมง ระหว่างต้าเหลียน-ฮาร์บิน

รายละเอียดเส้นทาง : นอกเหนือจากเส้นทางสายหลักแล้ว ยังมีเส้นทางสายย่อยอื่นๆ ได้แก่ฮาร์บิน-ต้าเหลียน, ผานจิ่น-อิ๋งโข่ว และ ฉางชุน-จี๋หลิน-หุนชุน ส่วนเส้นทางปักกิ่ง-เสิ่นหยางตามแนวเส้นทางหลักนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยปัจจุบันรถไฟยังวิ่งอ้อมในเส้นทางปักกิ่ง-เทียนจิน-ฉินหวงเต่า-เสิ่นหยาง

ปักกิ่ง-ฮ่องกง

ระยะทาง : 2,440 กิโลเมตร

สถานีหลัก : ปักกิ่ง (ตะวันตก), สือเจียจวง, เจิ้งโจว (ตะวันออก), อู่ฮั่น, ฉางซา (ใต้), เหิงหยาง (ตะวันออก), กว่างโจว (ใต้), เซินเจิ้น (เหนือ), ฮ่องกง เกาลูนตะวันตก

ระยะเวลา : 9 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : เส้นทางนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก” เปิดให้บริการเมื่อ 23 ก.ย. 2018

หางโจว-ฝูโจว-เซินเจิ้น

ระยะทาง: 1,464 กิโลเมตร

สถานีหลัก : หางโจว (ตะวันออก), เส้าซิง (เหนือ), หนิงโป, ไถโจว, เหวินหลิง, เวินโจว (ใต้), ฝูโจว (ใต้), ผูเถียน, เฉวียนโจว, เซี่ยเหมิน (เหนือ), เฉาซ่าน, เซินเจิ้น (เหนือ)

ระยะเวลา : 9.5 – 10.5 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : ทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้วิ่งเลียบตามแนวชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เชื่อมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีกับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล (จูเจียง) โดยมีแผนขยายเส้นทางขึ้นเหนือ มุ่งหน้าสู่เซี่ยงไฮ้, หนานทง, เอี๋ยนเฉิง, เหลียนอวิ๋นกั่ง, ชิงเต่า (เอียนไถ), เหวยฟาง, ตงอิ๋ง, เทียนจิน, ฉินหวงเต่า, ตานตง (ต้าเหลียน) และมุ่งขยับขยายออกไปทางตะวันตก สู่เมืองจ้านเจียงในมณฑลกว่างตง และเมืองเป่ยไห่ (ฝางเฉิงกั่ง) ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ก่อรูปเป็นเครือข่ายทางรถไฟตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศ

 

สายตะวันออก-ตะวันตก

สวีโจว-หลานโจว

ระยะทาง : 1,400 กิโลเมตร

สถานีหลัก : สวีโจว (ตะวันออก), ไคเฟิง, เจิ้งโจว, ลั่วหยาง หลงเหมิน, ฮว่าซาน (เหนือ), ซีอัน (เหนือ), เป่าจี (ใต้), เทียนสุ่ย (ใต้), หลานโจว (ตะวันตก)

ระยะเวลา : 8 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : เปิดให้บริการเมื่อ 9 ก.ค. 2017 มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตก และวิ่งเชื่อมต่อไปยังทางรถไฟความเร็วสูงหลานโจว-ซินเจียงโดยมีปลายทางที่เมืองอุรุมชี ทั้งยังมีแผนขยายเส้นทางออกไปทางทิศตะวันออกสู่เมืองเหลียนอวิ๋นกั่งอีกด้วย และเมื่อการขยายเส้นทางแล้วเสร็จ ทางสายนี้จะกลายเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกของจีนที่มีระยะทางวิ่งยาวมากสายหนึ่ง

เซี่ยงไฮ้-คุนหมิง

ระยะทาง : 2,266 กิโลเมตร

สถานีหลัก : เซี่ยงไฮ้ หงเฉียว, หางโจว (ตะวันออก), อี้อู, จินหัว, หนานชาง (ตะวันตก), ฉางซา (ใต้), เสาซาน (ใต้), หวยฮว่า, กุ้ยหยาง (เหนือ), อันซุ่น, ชวีจิ้ง, คุนหมิง (ใต้)

ระยะเวลา : 10.5 – 12 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : วิ่งจากพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจีนไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทิวทัศน์หลากหลายตระการตา ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่งดงามที่สุดในจีน นอกจากนี้เมื่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างนครคุนหมิงของจีนกับประเทศไทยโดยวิ่งผ่านประเทศลาวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเกิดเป็นเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชิงเต่า-ไท่หยวน

ระยะทาง : 770 กิโลเมตร

สถานีหลัก : ชิงเต่า, เหวยฟาง, จือโป๋, จี่หนาน, สือเจียจวง, หยางเฉวียน (เหนือ), ไท่หยวน (ใต้)

ระยะเวลา : 4 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : ในอนาคต เส้นทางนี้จะขยายไปทางทิศตะวันตก ปลายทางคือเมืองอิ๋นชวน ในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน

(แฟ้มภาพซินหัว : รถไฟความเร็วสูงขบวนหนึ่งกำลังออกเดินทางจากสถานีรถไฟชิงเต่า (เหนือ) ในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2018)
เซี่ยงไฮ้-อู่ฮั่น-เฉิงตู

ระยะทาง : 1,985 กิโลเมตร

สถานีหลัก : เซี่ยงไฮ้ หงเฉียว, ซูโจว (เหนือ), อู๋ซี (ตะวันออก), หนานจิง (ใต้), เหอเฝย, อู่ฮั่น ฮั่นโข่ว, อี๋ชาง (ตะวันออก), เอินซือ, ลี่ชวน, ฉงชิ่ง (เหนือ), เฉิงตู (ตะวันออก)

ระยะเวลา : 14.5 – 15 ชั่วโมง

รายละเอียดเส้นทาง : ทางรถไฟความเร็วสูงเซี่ยงไฮ้-อู่ฮั่น-เฉิงตู ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางด้วยรถไฟให้สั้นลงราว 20 ชั่วโมง ช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีกับพื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ของภูมิภาคจีนตอนกลาง

 

สถานะปัจจุบันและแผนงานในอนาคต

2 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการระบบรถไฟชั้นนำของจีนแถลงว่าในปี 2020 จีนจะสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่เพิ่มอย่างน้อยเป็นระยะทาง 4,000 กิโลเมตร โดยในจำนวนนี้เป็นทางรถไฟความเร็วสูง 2,000 กิโลเมตร

ลู่ตงฝู ผู้จัดการทั่วไปของการรถไฟจีน (China State Railway Group) เปิดเผยในการประชุมงานประจำปีว่า การพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่ๆ ที่วางแผนไว้ในปีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรักษาระดับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรไว้ในปริมาณมาก

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมของจีนแถลงว่าในปีนี้จีนจะใช้เงินอย่างน้อย 2.7 ล้านล้านหยวน (ราว 11 ล้านล้านบาท) ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง โดยเป็นงบประมาณด้านการรถไฟ 8 แสนล้านหยวน (ราว 3.48 ล้านล้านบาท)

ในปี 2019 จีนใช้เงิน 8.02 แสนล้านหยวน (ราว 3.49 ล้านล้านบาท) ไปกับการพัฒนาทางรถไฟในประเทศ โดยมีการเดินรถไฟในเส้นทางใหม่เป็นระยะทางกว่า 8,489 กิโลเมตร ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายการลงทุนประจำปีที่ตั้งไว้ที่ 8 แสนล้านหยวน และเดินรถไฟเพิ่ม 6,800 กิโลเมตร

การลงทุนนี้ส่งผลให้เมื่อสิ้นปี 2019 ที่ผ่านมา เครือข่ายทางรถไฟของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีความยาวรวม 139,000 กิโลเมตร ขณะที่เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงมีระยะทางเกิน 35,000 กิโลเมตร จีนได้บรรลุเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 30,000 กิโลเมตรภายในปี 2020 ล่วงหน้า 1 ปี

ปีที่ผ่านมา ในบรรดาเส้นทางรถไฟสายใหม่จำนวน 51 เส้นทาง ทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-จางเจียโข่ว ที่เชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองจางเจียโข่ว เมืองเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่งปี 2022 เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2019 นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญสำหรับระบบขับขี่อัตโนมัติของรถไฟความเร็วสูงของจีน โดยรถไฟที่ใช้ระบบนี้สามารถวิ่งด้วยความเร็วออกแบบสูงสุดที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ลู่ตงฝูเสริมว่า การก่อสร้างทางรถไฟสายซื่อชวน(เสฉวน)-ทิเบต ซึ่งเป็นรถไฟสายที่ 2 ที่มุ่งหน้าสู่เขตปกครองตนเองทิเบตของจีน ตามหลังเส้นทางรถไฟสายแรกหรือสายชิงไห่-ทิเบต จะเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในปี 2020 นี้

 

ทำไมจึงควรใช้บริการรถไฟความเร็วสูง ?

1. รวดเร็วทันใจ

รถไฟความเร็วสูงวิ่งด้วยความเร็ว 200-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ย่นระยะเวลาในการเดินทางได้มาก จากกรุงปักกิ่งถึงเซี่ยงไฮ้เหลือประมาณ 4.5 ชั่วโมงเท่านั้น จากเดิมที่ต้องเดินทางนาน 15 ชั่วโมง

2. ตรงต่อเวลา

หากเทียบกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูงถือเป็นยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศอันเลวร้าย หรือปัญหาการจัดการจราจรน้อยกว่า ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางได้ตรงตามเวลา

3. สะดวก เข้าถึงง่าย

ตารางเดินรถของรถไฟความเร็วสูงนั้นถี่กว่ารถไฟธรรมดา อีกทั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่ยังสามารถเดินทางไปถึงได้ด้วยรถไฟใต้ดิน การเดินทางจึงสะดวกสบายกว่าที่เคย

4. ราคาเหมาะสม

ถึงแม้ว่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงจะแพงกว่าตั๋วรถไฟทั่วไป แต่หากเทียบกับเครื่องบิน ส่วนมากแล้วจะมีราคาถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากเดินทางจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้ ตั๋วประเภทตู้นอนแบบเบาะนุ่ม (Soft Sleeper) ของรถไฟธรรมดาสนนราคาที่ 500 หยวน (ราว 2,100 บาท) ขณะที่ตั๋วที่นั่งชั้นสอง (second class) ของรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ 550 หยวน (ราว 2,300 บาท) ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดของสายการบินฟูลเซอร์วิสนั้นมากกว่า 1,000 หยวน (ราว 4,300 บาท)

5. นั่งสบาย

โครงสร้างตู้โดยสารของรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันนั้นดีกว่าตู้รุ่นเก่ามาก สิ่งอำนวยความสะดวกภายในไม่ด้อยกว่าเครื่องบิน ที่นั่งกว้างขึ้น เบาะนุ่มสบายขึ้น หน้าต่างบานใหญ่รับทิวทัศน์ และห้องน้ำสะอาดเอี่ยมกว่าเดิม เป็นต้น

6. ปลอดภัย

รถไฟความเร็วสูงเดินรถด้วยระบบควบคุมการเดินรถขั้นสูง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารทุกค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.