466 views

ข้าราชการที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและควรค่าแก่การเคารพนับถือนั้นเป็นอย่างไร หาคำตอบได้จากเรื่องราวของชายผู้มีชีวิตในสมัยราชวงศ์ชิงที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงชื่นชมจนต้องหยิบยกมาเล่าให้ฟัง

หนังสือ “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงโดยสังเขป” ได้กล่าวถึงเรื่องราวของข้าราชการผู้น่าเคารพนับถือคนหนึ่งนามว่า “จางโป๋สิง”

แม้จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับหน้าที่ข้าราชการประจำ ในสถานที่อันมั่งคั่งและเฟื่องฟู แต่เขาก็ยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและยังคงเป็นพหูสูตผู้สมถะ

สีจิ้นผิงเล่าเรื่องของขุนนางท่านนี้ระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองหลานเข่า มณฑลเหอหนาน เมื่อเดือนมีนาคม 2014

สีเล่าว่าในประวัติศาสตร์ของเมืองหลานเข่า มีขุนนางคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ใจซื่อมือสะอาดและเป็นที่รู้จักโด่งดัง นามว่า “จางโป๋สิง” เขาย้ายไปรับตำแหน่งระดับสูงตามหัวเมืองต่างๆ ตลอดชีวิตข้าราชการ ทั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลฝูเจี้ยน ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซู และเสนาบดีกรมพิธีการ นอกจากนั้น เพื่อที่จะปฏิเสธรับของกำนัลจากหลายๆ ฝ่าย เขายังเคยเขียนจดหมายต่อว่าขึ้นมาฉบับหนึ่ง เพื่อแสดงถึงหลักการของเขา

“ท่านประกาศกร้าวอย่างโกรธเกรี้ยวว่าจะต่อต้านทุกการทุจริต สิ่งนี้เหมือนกับการทุ่มหินก้อนใหญ่ลงในผืนทะเลสาบที่สงบนิ่ง จนเกิดเป็นวงคลื่นกระทบกันไปเป็นแถวๆ” หลี่โป ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยครูหนานจิงกล่าว

จางเกิดเมื่อปี 1651 สอบจอหงวนผ่านเข้ารับราชการเมื่อปี 1685 และกลายเป็นขุนนางที่รับใช้พระจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง

เมื่อปี 1707 จางได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “อั้นฉาสื่อ” หรือข้าหลวงผู้ควบคุมดูแลระดับมณฑล แห่งมณฑลเจียงซู โดยรับผิดชอบดูแลการบริหารงานด้านตุลาการในท้องถิ่น

“ตอนที่จางมาถึงซูโจวพร้อมตำแหน่ง ‘อั้นฉาสื่อ’ ก็มีคนมาแนะให้เขามอบของกำนัลแก่บรรดาผู้ใหญ่ เป็นแร่เงินประมาณ 4,000 ตำลึง ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก เป็นไปไม่ได้เลยที่ขุนนางคนหนึ่งจะมีเงินมากเช่นนั้น เพราะของขวัญมูลค่าขนาดนั้น เท่ากับรายได้จากการทำงานนานถึง 20 ปี” หวังเหว่ยผิง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซูโจว เล่า

“ดังนั้นหากจะมอบของกำนัลเช่นนี้ เขาจะต้องขูดรีดเงินจากชาวบ้าน แต่จางไม่ต้องการทำเช่นนั้น เขากล่าวว่าตนไม่สามารถเรียกเงินจากชาวบ้านได้แม่แต่เบี้ยเดียว เขาจึงปฏิเสธไปคำแนะนำนั้นไป” หวังเล่า

แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องขึ้นที่ “เจียงหนานก้งย่วน” สนามสอบจอหงวนที่ใหญ่ที่สุดในยุคจีนโบราณ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อปี 1711 ที่การประกาศผลการสอบคัดเลือกระดับมณฑลที่สนามสอบแห่งนี้ กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สุดเรื่องหนึ่งของจีน โดยมักเรียกกันว่า “กรณีอื้อฉาวโกงข้อสอบที่เจียงหนาน”

ตอนนั้นผู้เข้าสอบจากครอบครัวพ่อค้าเกลืออันมีจะกินจำนวนหลายสิบคน ต่างพากันติดสินบนเจ้าหน้าที่ผู้คุมสอบ จนพวกเขาสอบผ่าน

เมื่อมีคนล่วงรู้เข้า จึงพากันมาชุมนุมประท้วงนอกสนามสอบหลายร้อยคน จนทำให้บรรดาประชาชนออกมาคัดค้านเป็นวงกว้าง

ขณะนั้นจางได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซูแล้ว เขาจึงมีหน้าที่สอบสวนเหตุดังกล่าว

ขั้นตอนการสอบสวนเป็นไปอย่างซับซ้อนและยากลำบาก เพราะข้าราชการระดับสูงหลายคนมีส่วนพัวพันในการติดสินบนและอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งในข้าราชการที่ต้องสงสัยคือ “ก๋าหลี่” “ผู้สำเร็จราชการแห่งเหลี่ยงเจียง ข้าหลวงใหญ่แห่งมณฑลในลุ่มน้ำแยงซี 3 แห่ง ได้แก่ เจียงซู อันฮุย และเจียงซี ซึ่งตำแหน่งของเขาสูงกว่าจางมาก

แต่จางก็ยอมใช้เกียรติและตำแหน่งหน้าที่การงานของเขาเป็นเดิมพันเพื่อสืบหาความจริง

หลังสอบสวนยาวนานหลายเดือน ในที่สุดจางก็สามารถจับกุมข้าราชการทุจริตมาลงโทษตามกระบวนการได้ และสุดท้ายก๋าหลี่ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง

ตลอดเวลามากกว่า 40 ปี บนเส้นทางการเมืองของจาง เขาสร้างสถานศึกษาไว้หลายแห่ง ต่อสู้กับทุพภิกขภัยที่รุมเร้า ใช้กฎหมายลงโทษทรชน และชำระล้างระบบบริหารท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับการยกย่องสรรเสริญจากประชาชนในพื้นที่ ตลอดช่วงเวลาที่รับราชการ

“คุณต้องเลือกระหว่างการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกับความร่ำรวย เลือกได้แค่อย่างเดียว ถ้าเลือกจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต้องมีระเบียบวินัยในตัวเองอยู่เสมอ ไม่ลุ่มหลงไปกับเงิน อำนาจ และราคะ จงเป็นผู้ที่กำกับดูแลกิจการด้วยคุณธรรม ขาวสะอาด และซื่อสัตย์สุจริต” สีจิ้นผิงกล่าว

“เรื่องราวของจางโป๋สิงเป็นเรื่องราวที่ใช้บอกเล่าเพื่อให้กำลังใจบรรดาเจ้าหน้าที่ ให้รู้จักบ่มเพาะคุณค่าที่ถูกที่ควรในการปฏิบัติงานและเก็บเกี่ยวความสำเร็จในสายอาชีพการเมือง อีก   ด้านหนึ่งก็เป็นการย้ำเตือนให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายระมัดระวังกิจการงานของตนในทุกๆ วัน เพื่อให้เป็นตงฉินที่มือสะอาด และเปี่ยมด้วยคุณธรรม” ชิวอ้ายเผิง อาจารย์โรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเหอหนาน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.